ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ทันทีที่ประธานาธิบดีปูติน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 5 ของท่าน และคณะรัฐมนตรีต้องลาออกตามวาระ ประธานาธิบดีปูตินก็ตั้งคณะทำงานและคณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อเป็นกลไกของประธานาธิบดีใหม่ และแสดงทิศทางในการบริหารประเทศภายใต้ประธานาธิบดีปูตินสมัยที่ 5

เริ่มต้นด้วยการที่ปูตินลงนามแต่งตั้งคนสนิทที่มีความลึกซึ้งด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์คือ นายอเล็กซานเดอร์ จี ดำรงตำแหน่งในคณะผู้เชี่ยวชาญของสภาวิทยาศาสตร์ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่มีประธานาธิบดีปูตินเป็นประธานมีนายเมดเวเดฟ เป็นรองประธาน

ส่วนสภาวิทยาศาสตร์มีหน้าที่เตรียมข้อเสนอในการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางให้สภาความมั่นคงได้กำหนดนโยบายในด้านนี้ และกำหนดยุทธศาสตร์ตลอดจนกลยุทธ์ในทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นทางนำ

จากนั้นปูตินก็เริ่มเขย่าคณะรัฐมนตรีเพื่อกระชับอำนาจและจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “คนทรยศ”

ทั้งนี้ได้จับกุม Timur Ivanov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็สะเทือนไปถึงเจ้ากระทรวง คือ ชอยกู จึงตามมาด้วยการปรับครม.ที่โยกเอาชอยกู ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง ซึ่งเป็นการตัดบัวยังเหลือใย เพราะชอยกูก็ยังมีคอนเนกชันอยู่ในแวดวงของขั้วอำนาจ และ Ivanov ก็เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดชอยกู อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของ Peskov โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี และคุมงานประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ทีมงานของ Ivanov ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในแวดวงของรัฐบาล

เมื่อโยกพลเอกชอยกู ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแล้ว สิ่งที่ปูตินสร้างความประหลาดให้กับผู้ติดตามสถานการณ์โลก หรือผู้สนใจในด้านรัสเซียศึกษา คือ การแต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่

นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนายทหารคนสำคัญที่ร่ำรวยผิดปกติในช่วงปฏิบัติการพิเศษทางทหารที่ยูเครนและการกวาดล้างบุคคลอีกหลายคนที่มีโยงใยกับกลุ่มแสวงประโยชน์เหล่านั้น แต่จะมีนายทหารคนสำคัญอีกท่านที่หายเงียบไปในช่วงอารยขัดขืนของเยฟกินี พริโกซิน ผู้นำทหารรับจ้างวากเนอร์ นั่นคือ นายพลอมาเกดอน “สโรวิกิน” ถูกนำกลับมาให้รับผิดชอบงานสำคัญในอาฟริกา ทั้งนี้คือการประสานงานของความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในแอฟริกา ตั้งแต่ไนเจอร์ ชาด บูร์กินาฟาโซ และมาลี เพื่อสร้างระเบียงจากตะวันออก คือ มหาสมุทรอินเดียไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติค

กลับมาพูดถึงรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ที่ผู้เขียนเกริ่นว่าเป็นความเซอร์ไพรส์มากๆแม้ไม่ใช่ครั้งแรกของโลก นั่นคือนายเบลูซอฟ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้รัสเซียปกป้องและตอบโต้ การถูกคว่ำบาตรของตะวันตกได้อย่างโดดเด่น และทำให้เศรษฐกิจรัสเซียกลับมั่นคงมากขึ้นแทนการล่มสลาย ตามที่ตะวันตกคาด

ทว่าเบลูชอฟไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทัพมาก่อนเลย และไม่เคยมีบทบาทเกี่ยวข้องเกี่ยวกับด้านนี้อีกด้วย

ในอดีตสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี ได้เคยแต่งตั้งนายแมค นามารา ประธานบริหารของบริษัทฟอร์ด มาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อให้บริหารจัดการกองทัพที่มีงบมหาศาลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะให้มาควบคุมโครงการอวกาศ NASA ที่เคนเนดี ทุ่มงบมหาศาลเพื่อแข่งกับสหภาพโซเวียตทางด้านอวกาศ

ในกรณีของรัสเซีย มองได้ว่าปูตินต้องการดำเนินการมุ่งไปสู่การต่อสู้ทางเศรษฐกิจหรือสงครามเศรษฐกิจ โดยใช้กองทัพเป็นหัวหอกซึ่งโดยปกติแล้วตามหลักการ กระทรวงกลาโหมจะเป็นตัวที่เป็นภาระหนักทางงบประมาณ และเป็นตัวถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจ

แต่นับจากนี้ไปกระทรวงกลาโหมจะกลายเป็นลูกค้าหลักของนวัตกรรม และจะเป็นหัวหอกในการวิจัยพัฒนาตลอดจนค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ เช่น โดรน ดาวเทียมอวกาศ การสื่อสารในอวกาศ โลหะผสมใหม่ๆที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญอย่างสูง ระบบขนส่ง ระบบปัญญาประดิษฐ์ ชิปและเซมิคอนดักเตอร์ และกระทรวงกลาโหมจะกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่กระจายเทคโนโลยีไปสู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ตลอดจนการส่งออก นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างในการผลิตและการส่งออกจากสินค้าปฐมฐาน เช่น อาหาร วัตถุดิบ พลังงาน เพชร ทองคำ มาเป็นสินค้าส่งออกไฮเทค

นอกจากนี้รัสเซียภายใต้ปูติน ยังเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัยและออกแบบผู้ชำนาญการเช่น Chernyshenko

ทั้งนี้รัสเซียได้วางยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างคนยุคใหม่ให้เป็นมนุษย์ไอที

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประธานาธิบดีปูติน ไม่เคยลืมเลือนและตอกย้ำอยู่เสมอคือการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันถือได้ว่าจะเป็นโยงใยในการสร้างเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นของสหพันธรัฐรัสเซียต่อไปในอนาคต

แนวคิดในการให้นักเศรษฐศาสตร์มาบริหารงานด้านกลาโหมนี้นับเป็นการพลิกผันนโยบายทางเศรษฐกิจของชาติอย่างเด่นชัดของรัฐบาลใหม่ของมอสโก

ทั้งนี้ในอดีตสมัยสหภาพโซเวียตประเทศนี้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านการทหารที่ก้าวหน้าทัดเทียม  หรือก้าวล้ำกว่าตะวันตก อย่างเช่นการส่งสุนัขไปอวกาศ เพื่อเตรียมการส่งมนุษย์ไปอวกาศ การส่งคนไปลงดวงจันทร์อย่างกากาลิน เป็นคนแรกของโลก การพัฒนาด้านโลหะวิทยา ที่สามารถสร้างจรวดขับดันขนาดใหญ่ที่ทนความร้อนสูงมากๆ ได้เป็นต้น

แต่ในทางตรงข้ามการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านการทหารกลับกลายเป็นตัวไปฉุดรั้งทางเศรษฐกิจเพราะใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมาก และไม่อาจหาวิธีการทำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างรายได้ ทำให้สหภาพโซเวียดแม้เป็นมหาอำนาจทางทหารแต่ยากจน ซึ่งในที่สุดก็ล่มสลาย

ปูติน ซึ่งได้อยู่ในยุคปลายของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จึงได้วางแผนที่จะแก้จุดบกพร่องเหล่านี้เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับรัสเซีย คือ ก้าวหน้าทางทหาร และก้าวกระโดดด้านเศรษฐกิจ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำ โดยใช้นักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้บริหารกองทัพ นี่คงจะเรียกได้ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ตามที่นโปเลียนเคยกล่าว ของไทยจะเอาอย่างบ้างก็ได้นะ