ส.ป.ก. ร่วมประชุม คกก.ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการออกโฉนดเพื่อการเกษตรและการจัดสรรที่ดิน เพื่อประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องฯ ครั้งที่ 1/2567

วันที่ 5 มิ.ย.67 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มอบหมายให้ นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมคณะ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการออกโฉนดเพื่อการเกษตรและการจัดสรรที่ดิน เพื่อประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 

สืบเนื่องจาก การประชุมครั้งที่ 40/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการออกโฉนดเพื่อการเกษตรฯ การประชุมในครั้งนี้เพื่อพิจารณากรอบระยะเวลาและแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตฯ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียดต่างๆ โครงร่างรายงานการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการยกระดับ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง

นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า การเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ก็เพื่อให้เกษตรกรผู้ที่ทำประโยชน์ตามระยะเวลาได้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงสิทธิจากการได้รับการจัดที่ดิน สร้างความมั่นคงด้านที่ดินให้กับเกษตรกร ให้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น ซึ่งโฉนดเพื่อการเกษตร คือ หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบและติดตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

นอกจากนี้ เกษตรกรที่ประสงค์จะขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” จะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยนับระยะเวลาต่อเนื่องจากคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินครั้งแรก การยื่นคำขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

1) ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ผ่านศูนย์บริการประชาชน

2) ยื่นในระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.alro.go.th โดย ส.ป.ก. จะออกหนังสือรับรองสิทธิการขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรไว้ให้เป็นหลักฐานจนกว่าจะมีการออกโฉนดเพื่อการเกษตร ระยะเวลาดำเนินการ ส.ป.ก. จะพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน การประกาศผลการพิจารณา ส.ป.ก. จังหวัดจะประกาศผลพร้อมแนบรายชื่อเกษตรกร เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านภายใน 15 วัน เงื่อนไขของผู้ที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรแล้ว ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนมือ สละสิทธิ หรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้บุคคลอื่นได้รับสิทธิในโฉนดเพื่อการเกษตรแทนตนภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกโฉนดเพื่อการเกษตร เว้นแต่เป็นการจัดที่ดินแทนที่แก่คู่สมรส บุตร เครือญาติหรือทายาท แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้เพื่อทำเกษตรกรรม สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนเองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อ ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ นอกจากนี้ การควบคุมกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบที่ดินเช่นเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ที่ดินผิดประเภท