วันที่ 5 มิ.ย. 2567 เวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุฯ ว่า ขณะนี้ก้าวหน้าไปกว่า 90% แล้ว จาก 7 ข้อเสนอที่เราได้เสนอให้คณะกรรมาธิการฯไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนอีก 10% จะมีการปรับแก้ตามมติของ กมธ.ชุดใหญ่ ที่มีข้อเสนอแนะ และข้อแนะนำมา ซึ่งการประชุมในวันนี้จะมีการพิจารณาการปรับแก้ นิยาม แรงจูงใจทางการเมือง เพื่อให้ตรงกันกับความเห็นของคณะอนุทั้งสองคณะ และกมธ.ชุดใหญ่
ในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่เราได้เสนอตัวแบบไป โดยจะการลดจำนวนให้น้อยลง เพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น และเพิ่มเติมตัวแทนฝ่ายบริหารเข้ามา รวมถึงเพิ่มเติมมาตรฐานการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่เป็นหัวใจหลักของการนิรโทษกรรม เพราะเจตจำนงคือ การสร้างสังคมแห่งความปรองดอง หากการปรับแก้ของคณะอนุฯ เรียบร้อย ในวันที่ 6 มิ.ย. จะมีการนำเสนอทั้งหมดต่อ กมธ.ชุดใหญ่ ได้พิจารณา และหาก กมธ.ชุดใหญ่ ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก ก็จะถือว่าสิ้นสุดการทำงานของคณะอนุฯ และจะนำไปสู่การทำรายงานเพื่อเสนอต่อสภาฯ ต่อไป
เมื่อถามว่ามีการพูดคุยเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า มีหลากหลายประเด็น มาตรา 112 เป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งขั้ว และยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีกระบวนการไปบิดเบือนข้อมูล ว่า มีการถอน มาตรา 112 ออก ในความเป็นจริงเราไม่เคยถอดฐานความผิดใดเลย เนื่องจากกระบวนการเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทั้งสิ้น
“แต่เมื่อเราไม่ถอด มาตรา 112 ก็ทำให้เกิดคำถามใหม่อีกว่า ที่ไม่ถอด เพราะต้องการช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นการเมืองมีผลสูงมาก ยืนยันว่า เราไม่มีความคิดช่วยเหลือบุคคลใดเป็นพิเศษ และไม่มีการพูดคุยถึงกรณีนายทักษิณเลย ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ”
เมื่อถามว่าคดีมาตรา 112 ของนายทักษิณ จะกลายเป็นปัญหาในการออกกฏหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่มีผลอะไรมากมาย เพราะในการทำงานเราก็ยึดหลักการ กมธ.ก็ถูกตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีคดีของนายทักษิณแล้ว เพราะฉะนั้น กรอบการทำงานทุกอย่างถูกออกแบบและพูดถึงกันไว้แล้ว ซึ่งสิ่งที่จะใช้ในการจำแนกความผิด คือ 1.สถิติ 2. 25 ฐานความผิด 3.บริบทความขัดแย้ง 4.พฤติกรรม และนิยามแรงจูงใจทางการเมือง และ 5.จะหยิบคดีสำคัญสำคัญในแต่ละช่วงเวลา เพื่อที่จะแบ่งเป็น 3 ประเภท 1.คดีหลัก 2.คดีรอง 3.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
“การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย เพราะกินระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละช่วงเวลา มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน”นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ กมธ.ชุดใหญ่ว่า จะดำเนินการตามนี้หรือไม่ ส่วนผลสัมฤทธิ์ปลายทาง ส่วนตัวมองว่า ผลสัมฤทธิ์คือเรื่องการมีข้อเสนอที่จะนำไปสู่การพิจารณาในการตรากฏหมายนิรโทษกรรม ไม่ว่าเราจะได้กฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่เราทำได้คือข้อเสนอที่ ณ วันนี้ เราได้รวบรวมจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หากการออกกฏหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่สำเร็จ ก็สามารถนำข้อมูลตรงนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง