วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมกับทีมงานด้านกฎหมายเมื่อวานนี้(4 มิ.ย.) เพื่อทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีได้ร่วมประชุมด้วยหรือไม่ ว่า เมื่อวานนี้ตนไม่ได้เข้าประชุมด้วย นายวิษณุประชุมร่วมกับทีมงานกฎหมายทั้งหมด “ให้ท่านได้มีเวลาในการดูข้อมูลทั้งหมด ซึ่งจะครบกำหนด 15 วันในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายนนี้ ”
เมื่อถามว่าถึงเวลานี้ยังมีอะไรต้องกังวลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องกังวลไม่ต้องถามเพราะกังวลทุกเรื่อง ส่วนคำชี้แจงยังต้องแก้ไขเพราะเมื่อวานก็ได้มีการประชุม
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกกับ สส.ในที่ประชุมพรรควานนี้ (4 มิ.ย.) ให้สนับสนุนการทำงานของนายกรัฐมนตรี หลังเกิดกระแสความไม่พอใจภายในพรรคถึงการแต่งตั้งนายวิษณุ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ได้ยินมาและติดตามจากสื่อมวลชนที่รายงานข่าว ยืนยันว่าตนไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุมพรรค เพราะหากมีเวลาว่างก็จะเดินทางเข้าพรรคตลอด อีกทั้งช่วงนี้สภาฯก็ปิดจึงยังไม่มีเรื่องอะไร แต่เมื่อสภาฯเปิดแล้ว ตนก็คงเข้าไปอยู่ที่สภาฯในวันพฤหัสบดีเหมือนเดิม และถ้าว่างก็จะเข้าร่วมประชุมพรรคทุกวันอังคาร ก็จะได้มีเวลาพบปะกับ สส.
ส่วนเรื่องที่น.สแพทองธารพูดกับ สส. ในพรรคก็ได้ติดตามข่าวจากสื่อมวลชน ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ แต่ตนเชื่อว่าคำอธิบายก็มีความชัดเจน
เมื่อถามว่าหากนายกฯเข้าไปพูดคุยด้วยตนเองจะทำให้สส. สบายใจมากกว่าการให้คนอื่นพูดแทนหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวยอมรับว่า ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งถ้าว่างหรือมีเวลา ก็จะเข้าไปและเมื่อมีการถามก็จะชี้แจงต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคำถามของสื่อมวลชนที่ถามแล้วถามอีก ก็เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องชี้แจงต่อไป ก็ไม่ได้คิดอะไรมากและเข้าใจว่าถ้าเกิดมีการถามซ้ำก็แสดงว่ายังมีความกังวลอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องพยายามอธิบายต่อไป
เมื่อถามย้ำว่าจะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างนายกฯกับสส.ในพรรคหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะตนก็ลงพื้นที่ตลอด ส่วนไหนที่เราพูดรู้เรื่องกันแล้วมันก็รู้เรื่อง แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องของการร่วมกัน ก็คงไม่สบายใจกันทุกเรื่องเสมอไป แต่ถ้าเรื่องสบายใจ 80% ไม่สบายใจอีก 20% เราก็ต้องพยามทำในส่วนของ 20% ให้ลดลงไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นหน้าที่อยู่แล้วที่ต้องพยายามทำต่อไป เพื่อให้ความกระจ่างกับคนที่ทำงานด้วยกัน ส่วนเรื่องของการลงพื้นที่และทีมงานที่มาพูดคุย แนะนำปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชนตนก็รับฟังตลอดอยู่แล้ว บางครั้งก็ผ่านทีมทำงาน บางครั้งตนก็รับฟังด้วยตนเอง
เมื่อถามว่าในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการพูดคุยกับ สส.เป็นแบบรายภาค นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ทำอยู่แล้ว และทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีการเปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยมีการนำเรื่องของนโยบายมาจับประเด็น ซึ่งถ้าเกิดสส.คนไหน ภาคไหน พรรคไหน ที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบตนก็จะมานั่งฟังความคิดเห็นเพื่อปรับนโยบายให้ตรงความต้องการของประชาชน เพราะ สส. คือ ตัวแทนของประชาชน