สนค.ติดตาม Climate Tech เทรนด์เทคโนโลยีและธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต แนะทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คน สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ รวมถึงภาครัฐและภาคธุรกิจ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาหรือเพิ่มความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

ผอ.สนค. ให้ข้อมูลว่า ทุกประเทศและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ซึ่ง Climate Tech เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่า Climate Tech อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ร้อยละ 60 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด นอกจากนี้ Climate Tech ยังเป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต โดย Statista ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลสถิติหลายประเด็นทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาด Climate Tech ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ในปี 2576 อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 24.5 ต่อปี นอกจากนี้ McKinsey ระบุว่า Climate Tech จะช่วยพัฒนาศักยภาพและโอกาสทางการค้าและการลงทุนของแต่ละประเทศ เนื่องจาก Climate Tech อาจช่วยดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกได้มากถึง 1.5 – 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2567 

การเติบโตของตลาด Climate Tech เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ (1) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น กระตุ้นความต้องการเทคโนโลยีสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหา (2) ความตระหนักของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น (3) นโยบายและมาตรการภาครัฐ ที่สนับสนุนการเงิน ลดหย่อนภาษี ส่งเสริมการลงทุน อำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (4) กลไกราคาคาร์บอน ซึ่งช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้หาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ (5) โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Climate Tech โดยเฉพาะระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบขนส่งสาธารณะ 

ขณะเดียวกัน Climate Tech ยังสร้างโอกาสด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างงานในการผลิต การติดตั้ง และการบำรุงรักษา การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร รวมถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ อาทิ บริษัท Climeworks จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นธุรกิจบริการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ได้พัฒนาเครื่องมือและวิธีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บอากาศโดยตรง ซึ่งสามารถนำไปใช้ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และช่วยให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ บริษัท Sonnen จากเยอรมนี ให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน และก่อตั้ง SonnenCommunity ที่รับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจากครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง และบริษัท Nest จากสหรัฐอเมริกา ในเครือของ Google เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสำหรับบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลนิสัยของผู้อยู่อาศัยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และจัดทำตารางเวลาสำหรับปรับอุณหภูมิภายในบ้าน เพื่อลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Innovation for Sustainable Trade ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้าที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มปริมาณผลผลิต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย 

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ Climate Tech จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีและธุรกิจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจและก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่อีกมากมาย อย่างไรก็ดีธุรกิจ Climate Tech ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพง และทักษะของแรงงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนากลไก นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ Climate Tech ซึ่งจะขับเคลื่อนและยกระดับภาคธุรกิจไทยสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

#ข่าววันนี้ #กระทรวงพาณิชย์ #ClimateTech #สภาพภูมิอากาศ