ต้องบอกว่าโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นครราชสีมา และเชียงราย ได้รับความสนใจเข้าร่วมการประกวดมากถึง 61 โครงการ

นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นครราชสีมา และเชียงราย เพื่อก่อให้เกิดนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัด และประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ โดยอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะศิลปินและเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งนี้มีจำนวนโครงการที่เข้าร่วมการประกวด มากถึง 61 โครงการ ดังนี้ จ.กระบี่ จำนวน 15 โครงการ จ.นครราชสีมา จำนวน 29 โครงการ และ จ.เชียงราย จำนวน 17 โครงการ

ผอ.สศร. กล่าวอีกว่า ในการคัดเลือกวันที่ 11 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาต่างๆ ผู้แทนหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว และนวัตกรรม และหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจากพื้นที่เมืองแห่งศิลปะทั้ง 3 จังหวัด จะมีการพิจารณาโครงการที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จังหวัดละ 8 โครงการ รวม 3 จังหวัด เป็น 24 โครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นข้อเสนอโครงการได้มานำเสนอรายละเอียด ซึ่งจะมีการพิจารณาโครงการที่ได้รับรางวัลดีเด่น จังหวัดละ 1 โครงการ ซึ่งจะได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท พร้อมทั้งจะได้รับการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานตามข้อเสนอโครงการ จาก สศร. ภายในวงเงินงบประมาณ 500,000 บาท และรางวัลชมเชย จังหวัดละ 5 โครงการ ได้รับเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท และจะได้รับ การพิจารณาโครงการเพื่อจัดสรรงบอุดหนุนในปีถัดไป

“เราต้องการให้คนในพื้นที่เป็นตัวหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองศิลปะ ร่วมกับภาคีเครือข่ายของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ ที่จะได้บริหารจัดการได้อย่างคล่องตัว ต่อเนื่อง และเห็นผลได้จริง ทั้งการจัด งานเทศกาลด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในพื้นที่เมืองแห่งศิลปะ การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านศิลปะร่วมสมัย การสร้างการรับรู้การเป็นเมืองแห่งศิลปะ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การส่งเสริมอัตลักษณ์ประจำถิ่นหรือเสน่ห์ไทย โดยนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายผ่านการนำเสนอในรูปแบบศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย“ ผอ.สศร.กล่าว