ตม.รวบหนุ่มผิวสีหลบหนีเข้าเมือง ลักลอบทำงานโรงแรมราคาประหยัด ตีเนียนอัพค่าห้องเกินเรท
วันที่ 4 มิ.ย.67 ที่ บก.ตม.1 พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 เปิดเผยว่า พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม.โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวน X-RAY พื้นที่เสี่ยงโดย กก.สืบสวน บก.ตม.1 โดย พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับเบาะแสจากนักท่องเที่ยวว่ามีคนต่างด้าวผิวสี ไม่ทราบสัญชาติ ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับโรงแรมระดับ 1-2 ดาว ในซอยย่านพระโขนง โดยมีพฤติกรรมมักเรียกราคาค่าห้องสูงกว่าอัตราที่ติดประกาศไว้ เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะหากพบว่าลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ต่อมาในวันที่ 4 พ.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสังกัด กก.สืบสวน บก.ตม.1 พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงได้วางแผนปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวลากกระเป๋าเข้าไปติดต่อขอเช่าห้องพักเป็นภาษาอังกฤษ พบชายชาวแอฟริกันผิวสีทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายไมเคิล (นามสมมติ) รูปร่างสูงใหญ่นั่งอยู่หลังเคาน์เตอร์ สอบถามราคาห้องพักนายไมเคิลแจ้งว่า 500 บาท ซึ่งราคาที่แจ้งไว้ในหน้าเว็บไซต์คือ 300 บาท และขอให้ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จ่ายเงินเรียบร้อยจึงแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขอตรวจสอบหนังสือเดินทาง แต่นายไมเคิลกลับมีท่าทีค่อยๆเดินถอยหนี และสบโอกาสพยายามวิ่งออกทางหลังโรงแรม แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งระวังตัวอยู่แล้ววิ่งติดตามไปจับกุมได้ทันควัน ผลการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดในระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง และตรวจสอบระบบไบโอเมตริกซ์จากใบหน้าและลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่พบข้อมูล สอบถามนายไมเคิลรับว่า ตนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยช่วงปี 2564 หลังวิกฤตโควิด – 19 และโดยสารรถจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะมาทำงานที่โรงแรมดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยรับเงินเดือนเพียง 3,000-4,000 บาท แต่นายจ้างให้ที่พักอาศัยฟรี จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำพฤติกรรมดังกล่าว
ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่า “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” และ “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน” พร้อมทั้งได้กล่าวโทษคนไทยซึ่งเป็นนายจ้าง ที่เจ้าหน้าที่ไม่พบตัวในที่เกิดเหตุในข้อหา “ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายพ้นจากการถูกจับกุม และรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาตทำงาน” และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ก่อนจะผลักดันออกนอกราชอาณาจักรกลับประเทศต้นทางต่อไป
อนึ่ง สตม.ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทุกท่านทราบว่า บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตน ซึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง