วันที่ 3 มิ.ย. 2567 เมื่อเวลา 12.00 น. เหล่าทัพได้ทำการยิงสลุตหลวง 21 นัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567

กองทัพบก ที่บริเวณท้องสนามหลวงโดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 21 นัด เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2567

กองทัพเรือ ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โดยกองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ทำการยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567

กองทัพอากาศ ที่อุทยานการบิน กองทัพอากาศ (ดอนเมือง) โดย กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ทำการสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2566

สำหรับการยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณเพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำหรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ โดยคำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท คือ สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด สลุตข้าราชการ สลุตนานาชาติ พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2483 จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ เริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร