“สำนักงานสถิติฯ” เผยผลสำรวจความคิดเห็น “ปชช.”ส่วนใหญ่พอใจการทำงานของรัฐบาลรอบ 6 เดือนมาก   ชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ที่สุด ตามด้วยพักหนี้เกษตรกร-การท่องเที่ยว  “เศรษฐา”รับมีปรึกษา“วิษณุ”ทำคำชี้แจงศาลรธน. ปมตั้ง “พิชิต” เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างปรับแก้ ลั่นมั่นใจทำด้วยความสุจริต "ดิเรกฤทธิ์" ระบุเหตุผล3ข้อ  ต่อให้ยอดนักกฎหมายก็ช่วย "เศรษฐา" ต่อสู้คดีศาลรธน. ไม่ได้  ด้าน “นิด้าโพล” ชี้ 2 ปี “ ด้าน”อดีตปชป.” เผย “ชวน“ ยอมรับกระแสพรรคขาลง ขออยู่เป็นเสาหลักจนคนสุดท้าย 

ที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 เวลา 10.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการก่อสร้างขยายคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดงจ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เดิมคลองลัดโพธิ์มีความยาวประมาณ 1 กม. มีความคดเคี้ยวไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็ว จึงมีการขุดเพื่อลดระยะเวลาระบายน้ำเหลือเพียง 600 เมตร จากเคยระบายน้ำได้ 5 ชม. เหลือเพียง 10 นาที และขณะนี้ได้มีการก่อสร้างขยายของเพิ่มเติม ให้สามารถระบายน้ำที่เอ่อล้นในกรุงเทพและแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น โดยรวมอธิบดีกรมชลประทานบอกภายในสองเดือนจะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จ
       
จากนั้น นายเศรษฐาได้เดินพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ รวมถึงเรื่องของน้ำท่วม โดยนายเศรษฐา ยืนยันว่า ภายใน 2 เดือนนี้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จจะทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ชาวบ้านต่างขอถ่ายรูปพร้อมกับบอกได้ว่าดีใจที่นายกรัฐมนตรีมาถึงหน้าบ้าน
        
ต่อมา นายเศรษฐาได้เดินทางมาที่สวนสาธารณะนครเขื่อนขันธ์  ติดตามการดำเนินงานในการพัฒนาสวนสาธารณะร่วมกันของ จ.สมุทรปราการ กรมป่าไม้ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนให้กับคนในชุมชน ก่อนที่นายเศรษฐาได้เดินเยี่ยมชมสินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำมาออกร้าน โดยนายเศรษฐาได้ดื่มน้ำพิลังกาสาหนึ่งในตระกูลของเบอร์รี่ที่นำมาทำเป็นเครื่องดื่มคราฟเพื่อเพิ่มมูลค่า และมีการบรรจุกระป๋อง ซึ่งทำบรรจุภัณฑ์ด้วยลวดลายที่สวยงาม และน่าสนใจ ทำให้นายเศรษฐาสั่งซื้อทั้งหมดเพื่อนำไปเสิร์ฟให้กับแขกที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมระบุว่า ให้เสิร์ฟ พร้อมกับบรรจุภัณฑ์เลยเพื่อให้แขกที่สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์จากชุมชนได้ ทั้งนี้นายเศรษฐายังได้ปลูกต้นกันเกราเป็นที่ระลึกด้วย 


 ที่ตลาดบางน้ำผึ้ง เวลา 12.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ว่า  เบื้องต้นร่างแรกของคำชี้แจงเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมในบางจุด ทั้งนี้จะครบกำหนดส่งคำชี้แจงในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ แต่ต้องดูว่าจะสามารถส่งได้วันที่เท่าไหร่ โดยจะต้องให้ความสำคัญในทุกประเด็น และยืนยันว่าทุกขั้นตอน ในการแต่งตั้งทำถูกต้องตามกฏหมาย แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องให้เกียรติท่าน ตนขอไม่พูดว่ามั่นใจหรือไม่มั่นใจ แต่ตนมั่นใจว่าทำด้วยความสุจริต 

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำชี้แจงจะต้องมีการยืนยัน หรือไม่ว่านายพิชิตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ในคำชี้แจง คงไม่ใช้เวทีของสื่อมวลชนที่จะมาพูดว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอความกรุณาตรงนี้ด้วย  เมื่อถามว่า การทำคำชี้แจงได้มีการปรึกษา นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายหรือไม่  นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้มีการปรึกษานายวิษณุเพราะเป็นหนึ่งในคนที่ต้องไปขอคำปรึกษา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางปิยนุช วุฒิสอน ผอ. สำนักงานสถิติแห่งชาติ และน.ส.สุวรรณี วังกานต์ รองผอ. สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดย นายชัย กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 6 เดือน เป็นการสำรวจความคิดเห็นด้วยวิธีสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 6,970 คน ระหว่างวันที่ 22 เม.ย.-15 พ.ค.67 โดยนำเสนอในระดับภาพประเทศ กรุงเทพมหานคร และ 6 ภาค สรุปผลการสำรวจประชาชนตัวอย่าง ดังนี้ 1.ประชาชนติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มากที่สุด โดยประชาชนร้อยละ 83.9 ติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตาม/รับรู้มากที่สุด คือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 69.6) รองลงมาได้แก่ เฟซบุ๊ก (ร้อยละ 46.2) เว็บไซต์ (ร้อยละ 23.8) ญาติ/คนรู้จัก (ร้อยละ 16.0) ไลน์ (ร้อยละ 15.5) เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 161 ไม่ติดตาม/ไม่รับรู้ เนื่องจากไม่สนใจ ไม่มีเวลาว่าง ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมาก ติดตาม/รับรู้จากโทรทัศน์ ขณะที่ผู้ที่มีอายุน้อยติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีการติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์เช่นเดียวกัน

2.ประชาชนร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.6 และมากร้อยละ 38.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 14.1 (น้อยร้อยละ 11.1 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.0) ส่วนที่ไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 2.0 ประชาชนในชายแดนภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก 

3.ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่เป็นอันดับแรก นโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึ่งพอใจมาก-มากทีสุด ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ (ร้อยละ 68.4) มาตรการพักหนี้เกษตรกร (ร้อยละ 38.9) มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (ร้อยละ 33.1) มาตรการลดค่าไฟ (ร้อยละ 32.8) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ(ร้อยละ 29.3) 

4.ประชาชนร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.2 และมากร้อยละ 36.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 15.8 (น้อยร้อยละ 12.4 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.4) ส่วนที่ไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 2.7 ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความเชื่อมั่นฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก
 
5.ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (ร้อยละ 75.3) ลดค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 46.6) แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง (ร้อยละ 29.5) แก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 26.3) และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ (ร้อยละ 16.9)


ด้าน น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดผลสำรวจความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหลังจากนี้ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. จะมีการทำผลสำรวจความเห็นประชาชนอีกรอบเมื่อรัฐบาลทำงานครบ 1 ปี


วันเดียวกัน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.059 ระบุว่า มีประเด็นที่ควรพูดคุยให้ประชาชนเข้าใจ หลายจุด 1.ศาลและองค์กรตาม รธน.มีบุคลากรและระบบที่เป็นอิสระ เป็นเสาหลักของบ้านเมืองที่ไม่มีใครจะสั่งการและใช้ไปต่อรองทางการเมือง(ดีล)กับใครหรือฝ่ายใดได้

2.กรณีเรื่อง 40 สว.ร้องต่อ ศรธน.ให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์ของ นรม.และ รมต.เป็นประเด็นหัวใจของประชาธิปไตยไทย 3.การต่อสู้คดีใน ศรธน.ของ นรม.มีจุดเป็นหรือตายที่ข้อเท็จจริงการกระทำที่ผ่านมาแล้ว ใครก็ช่วยไม่ได้ ยอดนักกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ครับ


ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “2 ปี ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 - 27 พ.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครอบคลุมทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานในรอบ 2 ปี ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0


ผลการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครต่อการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.รอบ 2 ปี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในประเด็นต่างๆ มีดังนี้ 1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวใน กทม. ตัวอย่างร้อยละ 43.05 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 21.30 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 20.15 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 8.20 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 7.30 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ ตัวอย่างร้อยละ 45.75 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 21.65 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 19.60 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 10.30 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 2.70 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล

3. การปรับปรุงและจัดระเบียบทางเท้า เช่น หาบเร่แผงลอย การจอดยานพาหนะหรือตั้งร้านบนทางเท้า ตัวอย่างร้อยละ 46.60 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 21.30 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 19.35 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 11.60 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 4. การสนับสนุนการกีฬา ตัวอย่างร้อยละ 41.80 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 23.25 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 17.45 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 9.50 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล และร้อยละ 8.00 ระบุว่า ไม่ดีเลย

5. การแก้ไขปัญหาความสะอาด ขยะ ฝุ่นละออง น้ำเสีย ตัวอย่างร้อยละ 44.30 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 25.40 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 17.15 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 12.25 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 0.90 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 6. การปรับปรุงทัศนียภาพ ถนน ตรอก ซอย ตัวอย่างร้อยละ 46.90 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 23.60 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 16.85 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 1.20 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล

7. การปรับปรุงการให้บริการในหน่วยงานของ กทม. ตัวอย่างร้อยละ 43.15 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 22.10 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 16.05 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 12.40 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 6.30 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 8. การป้องกันอาชญากรรม และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การติดไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด ระบบรักษาความปลอดภัย ตัวอย่างร้อยละ 43.35 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 28.15 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 15.10 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 11.15 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 2.25 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล

9. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตัวอย่างร้อยละ 37.00 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 29.05 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 16.00 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 13.95 ระบุว่า ดีมาก และร้อยละ 4.00 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 10. การจัดระเบียบการชุมนุม ตัวอย่างร้อยละ 41.50 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 24.90 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 13.70 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 10.15 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 9.75 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล

11.การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า เรือ ตัวอย่างร้อยละ 41.10 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 29.35 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 13.35 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 8.80 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 7.40 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 12. การแก้ไขปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข ตัวอย่างร้อยละ 41.25 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 28.65 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 12.65 ระบุว่า ดีมาก ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ไม่ดีเลย และร้อยละ 6.45 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล

13.การพัฒนาการศึกษา แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ตัวอย่างร้อยละ 36.00 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 28.10 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 12.40 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 11.80 ระบุว่า ดีมาก และร้อยละ 11.70 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 14.การแก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ในหน่วยงานของ กทม. ตัวอย่างร้อยละ 30.95 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 27.35 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 18.35 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 12.85 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล และร้อยละ 10.50 ระบุว่า ดีมาก

15.การจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนจรจัด ขอทาน ตัวอย่างร้อยละ 35.70 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 33.25 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 15.40 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 10.35 ระบุว่า ดีมาก และร้อยละ 5.30 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 16.การแก้ไขปัญหาจราจรและรถติด ตัวอย่างร้อยละ 37.30 ระบุว่า ค่อนข้างดี รองลงมา ร้อยละ 34.40 ระบุว่า ไม่ค่อยดี ร้อยละ 17.60 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 9.00 ระบุว่า ดีมาก และร้อยละ 1.70 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล 17.การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ตัวอย่างร้อยละ 38.70 ระบุว่า ไม่ค่อยดี รองลงมา ร้อยละ 24.70 ระบุว่า ไม่ดีเลย ร้อยละ 24.55 ระบุว่า ค่อนข้างดี ร้อยละ 7.15 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล และร้อยละ 4.90 ระบุว่า ดีมาก

ด้านความพึงพอใจของคนกรุงเทพมหานครต่อการทำงานในรอบ 2 ปี ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของนายชัชชาติ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.25 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 20.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 18.45 ระบุว่า พอใจมาก ร้อยละ 10.60 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเลือกนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม.หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 40.75 ระบุว่า เลือก รองลงมา ร้อยละ 34.50 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.35 ระบุว่า ไม่เลือก และร้อยละ 0.40 ไม่ตอบ


นายเทพไท เสนพงษ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เวลา15.00 น. นายชวน หลีกภัย ได้แวะมาเยี่ยมตนที่บ้านพักเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพราะท่านรู้ว่าตนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ยังอยู่ในระหว่างการพักโทษและติดกำไลอีเอ็มอยู่ การเดินทางออกนอกเขตควบคุมจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง เพราะไม่ใช่นักโทษเทวดา ที่มีอภิสิทธิ์ชนเหนือนักโทษคนอื่นๆ ซึ่งนายชวนได้ให้ความเมตตาต่อตนมาก ตอนตนอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช นายชวนก็กรุณาไปเยี่ยมถึง 2 ครั้ง เมื่อออกมาจากเรือนจำมาพักโทษที่บ้าน นายชวนก็ยังอุตส่าห์แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจผมอีก ต้องกราบขอบพระคุณท่านมาก

ตนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระแสนิยมยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย เมื่อดูจากผลโพลของสำนักต่างๆ ปรากฎว่าความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ยังอยู่ในระดับ 3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับโอกาสการเมืองในขณะนี้ ในวันที่มวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผิดหวังจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเดิม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้วางมือทางการเมืองไปแล้ว คะแนนนิยมของมวลชนกลุ่มนี้ ก็น่าจะกลับมาพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม แต่กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย คนที่ผิดหวังกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลับไหลไปที่พรรคก้าวไกลมากกว่า

“ผมจึงถามท่านชวนว่า จะทำอย่างไรต่อไปกับบทบาทของท่านในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งท่านก็ยืนยันว่า ยังทำหน้าที่ในฐานะส.ส. คนหนึ่ง จะตั้งกระทู้ถาม อภิปรายตรวจสอบรัฐบาล เป็นปากเสียงให้กับประชาชน ไม่ว่า ส.ส. ส่วนใหญ่หรือกรรมการของพรรคประชาธิปัตย์ จะวางบทบาทของพรรคอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค แต่ส่วนตัวท่านก็ยังทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างเข้มแข็งต่อไป จะไม่ลาออกจากพรรค และจะไม่ทิ้งพรรคอย่างเด็ดขาด ท่านยังแวะเยี่ยมพี่น้องประชาชนตลอดเส้นทาง ทุกครั้งที่เดินทางกลับจ.ตรังโดยรถยนต์ ผมได้ฝากความหวังและให้กำลังใจท่าน ขอให้ท่านได้เป็นเสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ไม่ว่าจะเหลือใครสักกี่คนก็ตาม ขอให้ท่านรักษาพรรคไว้ เพื่อให้คนที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ได้กลับไปฟื้นฟูพรรคอีกครั้งหนึ่ง”นายเทพไท กล่าว