จันทบุรี ประกาศเตือน 7 อำเภอ เฝ้าระวังเป็นพิเศษ สถานการณ์น้ำ 1-7 มิ.ย.นี้ ผู้ว่าฯ กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อม ส่วนประชาชนควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

วันที่ 2 มิถุนายน 2567 สถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ จ.จันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. เป็นต้นมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ประชาชนได้รับผลกระทบ บ้านเรือน และสวนผลไม้ ได้รับความเสียหาย เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.คลองนารายณ์ ต.พลับพลา อ.เมือง ซึ่งล่าสุดบางจุดได้กลับเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว บางจุดปริมาณน้ำลดลง หลังจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาช่วยผลักดันออกจากพื้นที่รับน้ำ ลงคลองภักดีรำไพตั้งแต่เมื่อวานนี้  

จากการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แจ้งว่าระหว่างวันที่ 1-7 มิ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่ จ.จันทบุรี กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้แจ้งให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.มะขาม อ.ขลุง อ.โป่งน้ำร้อน อ.แก่งหางแมว อ.สอยดาว และ อ.เขาคิชฌกูฏ

และเพื่อเป็นการพร้อม จึงแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้า โดยมีข้อสั่งการให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ในส่วนทางทะเล ชาวเรือ ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยง การเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ผู้ประกอบการพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล  ให้แจ้งเตือนประชาชน นักท่องเที่ยว พร้อมติดธงแดงเตือนให้เห็นชัดเจน

ด้าน นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจันทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อำเภอ ปภ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชลประทาน ทหาร อาสาสมัคร องค์กรการกุศล เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทั้ง หอเตือนภัย หอกระจายข่าว เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม เพื่อให้เตรียมการป้องกันและระวังความเสียหาย ที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร

 อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเหตุผ่านทาง โทรศัพท์ สายด่วน 1784 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครกู้ภัยฯ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 097-1891514 ปภ.จันทบุรี039-312 100 , 039-325 139 สายด่วน 1784 สายด่วน 191 พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง