“บิ๊กทิน”สวมบทนักสันติภาพ โชว์วิชั่นบนเวที IISS Shangri-La Dialogue สะกิด มหาอำนาจ-คู่ขัดแย้ง ต่างเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร ทำกระทบต่อเสถียรภาพ-ความมั่นคง เรียกร้องให้ทุกประเทศมุ่งมั่นในระดับสูงสุด ร่วมมือกัน-ก้าวไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สร้างสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ร่วมกันของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม พลเรือน ของไทย ได้ขึ้นกล่าว ครั้งแรก บนเวทีในการประชุม IISS Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 21 ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา สาธารณรัฐสิงคโปร์ในหัวข้อ“ความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิก”(Connecting Indian Ocean and Pacific Security)
นายสุทิน ระบุว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าร่วมการประชุมแชงกรี-ลาไดอะล็อก ในปีนี้ ผมเห็นว่าการประชุมแชงกรี-ลา ไดอะล็อกนั้น เป็นเวทีการหารือด้านความมั่นคงที่สำคัญอย่างยิ่งของภูมิภาค ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกันอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา อันจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคระหว่างเราทุกประเทศ
ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณและชื่นชมสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ ที่ได้ร่วมดำเนินการจัดการประชุม ได้เป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่องผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “ความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิก” ในวันนี้
นายสุทิน กล่าวว่า หากกล่าวถึงมหาสมุทรอินเดีย ผมนึกถึงผืนน้ำที่กว้างใหญ่ทอดยาว ตั้งแต่ชายฝั่งของทวีปแอฟริกาด้านตะวันออกมาจรด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และครอบคลุมไปถึงชายฝั่งของออสเตรเลียด้านตะวันตก เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ มาจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของการขนส่งสินค้าทางทะเล และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งมากกว่า2ใน3 ของการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะใช้เส้นทางผ่านมหาสมุทรอินเดียในฐานะที่ประเทศไทย อยู่บนคาบสมุทรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญและการหลอมรวมทางอารยธรรมทั้งจากด้านตะวันตกและตะวันออก จนพื้นที่แถบนี้ในอดีตได้รับการขนานนามว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” หรือ
“แผ่นดินทอง” ที่มีภูมิรัฐศาสตร์เชื่อมดินแดน และภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก รวมถึงเป็นสถานีการค้าที่สำคัญในยุคโบราณ จึงพิสูจน์ให้เห็นว่า การสร้างความเชื่อมโยงนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความเจริญรุ่งเรือง และความมั่งคั่งนับแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันผมตระหนักดีว่าแต่ละประเทศ ต่างมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งถึงแม้จะมีความแตกต่างของแนวทางในการดำเนินการ แต่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่มุ่งส่งเสริมการติดต่อค้าขาย รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค โดยยุทธศาสตร์และกลไกความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ โครงการสายแถบและเส้นทาง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปค
ทั้งนี้ ประเทศไทย ยินดีส่งเสริมความร่วมมือกับทุกประเทศผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาคทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นโอกาสในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางสังคมและการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม อาจส่งผลให้เกิดความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งจากปัญหาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นตลอดจนความท้าทายจากปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะข้ามแดนและไร้พรมแดน อาทิ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายปัญหาโจรสลัดและอาชญากรรมทางทะเล ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมดังนั้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค จึงเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการพัฒนาศักยภาพร่วมกันในการรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ภูมิภาคมีการเชื่อมโยงในทุกมิติอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อโดยไทยยินดีเป็นตัวกลาง และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างมีคุณค่า เพื่อสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตรมากกว่าความขัดแย้งหรือความตึงเครียดในภูมิภาคตลอดจนผลักดันและสนับสนุนกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนร่วมกัน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไร้พรมแดน
ทั้งนี้ ผมยืนยันการสนับสนุนการใช้กลไกระดับพหุภาคีที่อาเซียนมีบทบาทนำ และมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของการไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการเปิดกว้าง โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยหลักการดังกล่าว ได้สะท้อนอยู่ในเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก ซึ่งผมยังเห็นควรที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยง และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ กับกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย BIMSTEC กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในเขตแปซิฟิกรวมถึงองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์ และการทำงานที่ประสานสอดคล้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันนั้น ความมั่นคงทางทะเล มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประเทศไทยจึงสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทะเล และการทำงานร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมไม่เพียงแต่เฉพาะมิติด้านการทหารและความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติด้านอื่น ๆ อาทิ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ทั้งนี้ ผมขอชื่นชมกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ ที่ได้ริเริ่มและจัดตั้งศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารทางทะเล ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อสร้างภาพสถานการณ์ทางทะเล ร่วมกันของภูมิภาค รวมถึงสามารถประสานการปฏิบัติในการจัดการกับภัยคุกคามทางทะเลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาค โดยได้มีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือต่าง ๆที่สำคัญ อาทิ รีแค็ป การลาดตระเวนร่วมในช่องแคบมะละกาการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน การประชุมADMM-Plus การประชุมกองทัพเรือของกลุ่มประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และการประชุมของกองทัพเรือในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งกองทัพเรือได้รับหน้าที่ประธานการประชุมในห้วงปี ค.ศ. 2023 -2025 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร และการจัดการผลประโยชน์ทางทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมไทยยินดีที่ได้เป็นประธานร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ในกรอบคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล ภายใต้กรอบการประชุม ADMM-Plus ในห้วงปี ค.ศ. 2021 - 2024โดยมีผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนระยะยาวด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งกำหนดกรอบแนวทางสำหรับการดำเนินความร่วมมือให้มีทิศทางที่ชัดเจนเกิดความประสานสอดคล้องกันในทุกกิจกรรม และทุกระดับของการปฏิบัติ โดยจัดทำแผนความร่วมมือในการป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล
และในโอกาสนี้ขอยืนยันความพร้อม ในการสนับสนุนการเป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลในวงรอบปัจจุบัน ของญี่ปุ่นและสาธารณรัฐฟิลิปปินส์อย่างเต็มที่ เพื่อสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาRoadmap ต่อไป
“ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ เมื่อเราพูดถึงความท้าทายด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงมิติด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาหาร และสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนในส่วนของประเทศไทยนั้น กองทัพไทยมีบทบาทหน้าที่ไม่เพียงแต่ในด้านการป้องกันประเทศเท่านั้น แต่มีบทบาทในการช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรที่มี สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยมุ่งประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของความมั่นคงแบบองค์รวมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนกระทรวงกลาโหมจึงจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในการพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการหลายบทบาท และสามารถตอบสนองภารกิจได้หลากหลาย รวมทั้งหมดมีเป้าหมายในการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ ให้มีความเหมาะสมสามารถตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงในศตวรรษที่21 รวมถึงมีศักยภาพที่เพียงพอในการสนับสนุนรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่สําคัญของชาติ โดยเฉพาะความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามพรมแดน และความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการในการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางทหารในทุกภูมิภาค ซึ่งได้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าการเสริมสร้างความทันสมัย และการใช้จ่ายทางทหารไม่ใช่ปัจจัยหลักของการขาดเสถียรภาพ หากแต่เป็นช่องว่างของการสื่อสารและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจและการประมาณสถานการณ์ที่ผิดพลาด”
ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่เข้มข้น จึงจำเป็นที่เราทุกฝ่าย จะต้องแสวงหาจุดร่วมในการทำงานร่วมกัน และแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการร่วมกันรับมือต่อความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญในปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างสรรค์ประโยชน์สาธารณะ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
สุดท้ายนี้ จากทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การสร้างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เป็นทั้งโอกาสในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคแต่ในขณะเดียวกัน ยังมีความท้าทายที่เราต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่งการรักษาความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ดังนั้น ผมเรียกร้องให้ทุกประเทศมีความมุ่งมั่นในระดับสูงสุด เพื่อร่วมมือกันและก้าวไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และการเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค