สำนักงานสถิติฯ เผย ผลสำรวจความคิดเห็น ปชช. ต่อการทำงานของรัฐบาลรอบ 6 เดือน พบ พอใจมากถึงร้อยละ 44.3 ชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มากที่สุด รองลงมาคือพักหนี้เกษตรกร-การท่องเที่ยว และอีกร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่น รบ. แก้ไขปัญหาประเทศ

วันที่ 2 มิ.ย.2567  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย นางปิยนุช วุฒิสอน ผอ. สำนักงานสถิติแห่งชาติ และน.ส.สุวรรณี วังกานต์ รองผอ. สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดย นายชัย กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 6 เดือน เป็นการสำรวจความคิดเห็นด้วยวิธีสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 6,970 คน ระหว่างวันที่ 22 เม.ย. - 15 พ.ค.2567 โดยนำเสนอในระดับภาพประเทศ กรุงเทพมหานคร และ 6 ภาค สรุปผลการสำรวจประชาชนตัวอย่าง ดังนี้ 1.ประชาชนติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มากที่สุด

โดยประชาชนร้อยละ 83.9 ติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตาม/รับรู้มากที่สุด คือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 69.6) รองลงมาได้แก่ เฟซบุ๊ก (ร้อยละ 46.2) เว็บไซต์ (ร้อยละ 23.8) ญาติ/คนรู้จัก (ร้อยละ 16.0) ไลน์ (ร้อยละ 15.5) เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 161 ไม่ติดตาม/ไม่รับรู้ เนื่องจากไม่สนใจ ไม่มีเวลาว่าง ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากติดตาม/รับรู้จากโทรทัศน์ ขณะที่ผู้ที่มีอายุน้อยติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีการติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์เช่นเดียวกัน

2.ประชาชนร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.6 และมากร้อยละ 38.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 14.1 (น้อยร้อยละ 11.1 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.0) ส่วนที่ไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 2.0 ประชาชนในชายแดนภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น

สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก

3.ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่เป็นอันดับแรก นโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึ่งพอใจมาก-มากทีสุด ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ (ร้อยละ 68.4) มาตรการพักหนี้กษตรกร (ร้อยละ 38.9) มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (ร้อยละ 33.1) มาตรการลดค่าไฟ (ร้อยละ 32.8) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ (ร้อยละ 29.3) 

4.ประชาชนร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นมาก-มากที่สุดต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ ประชาชนร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.2 และมากร้อยละ 36.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 15.8 (น้อยร้อยละ 12.4 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.4) ส่วนที่ไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 2.7 ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น

สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความเชื่อมั่นฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก

5.ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (ร้อยละ 75.3) ลดค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 46.6) แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง (ร้อยละ 29.5) แก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 26.3) และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ (ร้อยละ 16.9)

ด้าน นางสุวรรณี กล่าวว่า ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดผลสำรวจความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหลังจากนี้ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย.จะมีการทำผลสำรวจความเห็นประชาชนอีกรอบเมื่อรัฐบาลทำงานครบ 1 ปี