นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานบางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ว่าการฯ ททท. และรองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชนร่วมพิธีเปิดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ภายใต้แนวคิด Celebration of Love ที่พร้อมโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งขนาดใหญ่ยาว 200 เมตร ยาวที่สุดในประเทศไทย กับขบวนพาเหรด Festival ที่ยาวกว่า 2.5 กิโลเมตร จากสนามกีฬาแห่งชาติ ทอดยาวบนถนนพระราม 1 ถึงสี่แยกราชประสงค์ ในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 นี้

สำหรับ Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 ถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของเหล่า LGBTQIAN+ กับ “บิ๊กเฟสติวัล” ที่มาพร้อมกับการเฉลิมฉลองนับถอยหลังเคานต์ดาวน์สู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 กฎหมายประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQIAN+ โดยในปีนี้การรวมตัวของชุมชน LGBTQIAN+ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปปักหมุดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก ภาคกลาง: กรุงเทพมหานคร นครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ภาคใต้ : จังหวัดภูเก็ต สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช ภาคตะวันออก : พัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ซึ่งความร่วมมือนี้ “นฤมิตไพรด์” ได้ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มผู้จัดคณะทำงานไพรด์ทั่วประเทศ รวมถึงภาครัฐ ในการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้จนถึงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางเพศ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ นิทรรศการ การเสวนา เทศกาลภาพยนตร์และดนตรี การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลาดนัดสีรุ้ง ตลอดจนข้อเรียกร้องทางกฎหมาย ทั้งการยกระดับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมและเตรียมพร้อมสำหรับ Road to Bangkok World Pride ในปี 2030

ในส่วนของเทศกาลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการตอกย้ำศักยภาพของศิลปินแดร็กและนางโชว์ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยผ่านการแต่งตัวและการแสดงโชว์ต่าง ๆ แล้ว กลุ่ม LGBTQIAN+ ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งนำไปสู่การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Pride Friendly Destination และการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok WorldPride ในปี 2030 เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นแลนด์มาร์กอันดับ 1 ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลก

ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้สนับสนุนเพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ ทั่วโลกอย่างยั่งยืน หรือ สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังจะผ่านกระบวนการกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยขณะนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาของวุฒิสภา ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว นับไปอีก 120 วันกฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ 

 อีกทั้งกลุ่ม LGBTQIAN+ ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้แน่นอน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทย เป็น Pride Friendly Destination และเป็นเจ้าภาพจัด Bangkok WorldPride ในปี 2030 เพื่อให้ไทยเป็นแลนมาร์ค หรือหมุดหมายอันดับ 1 ของโลกของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือกำลังซื้อของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลกนั้นไม่ควรถูกมองข้าม จากการสำรวจของ LGBT Capital ในปี 2020 ระบุว่า กำลังซื้อของกลุ่มนี้มีมูลค่าสูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ เราเห็นความสำคัญของ Rainbow Economy ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีศักยภาพทางการเงิน ข้อมูลจาก ททท. พบว่ามี Spending Power สูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 40% และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้ราว 2.3 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก จึงนับเป็นตลาดใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของโลกอีกกลุ่มหนึ่ง