วันที่ 31 พฤษภาคม 2567  นายประพจน์  ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 ในฐานะผู้ประสานงานพื้นที่ ต.ในเมือง ต.โพธิ์กลาง ต.หนองไผ่ล้อม ต.บ้านใหม่ และ ต.โคกกรวด อ.เมือง ซึ่งมีกายภาพแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยนัดหมายผู้นำและผู้แทนประชาชนร่วมประชุมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อน เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจพิจารณาปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้ยกระดับผ่านเมือง เพื่อลดผลกระทบวีถีชีวิตในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งประเด็นหารือความคืบหน้าข้อสรุปการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับนายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานการประชุมกับนายกิตติศักดิ์  ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา และคณะอนุกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) วาระสืบเนื่องมติการประชุม อจร.นม.ครั้งที่ 1/2567 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการตามฉันทานุมัติของชาวโคราช เมื่อปลายปี 2562 เดิมรูปแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเมือง เป็นทางระดับดิน แนวทางต้องการยกระดับผ่านเมืองและรื้อถอนสะพานสีมาธานีรวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก

โดยผู้แทน รฟท. ชี้แจงข้อเปรียบเทียบ 1.วิศวกรรมโยธาและการจราจร เช่น ความลาดชัด โค้งทางดิ่ง การแก้ไขจุดตัดทางรถไฟ 9 จุด และการระบายน้ำ 2.เศรษฐกิจและการลงทุน เช่นมูลค่าก่อสร้าง ผลกระทบด้านระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง การบำรุงรักษาและปัญหาการจราจรระหว่างก่อสร้าง 3.สิ่งแวดล้อม เช่น แบ่งแยกชุมชน ผลกระทบด้านสุนทรียภาพ อากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน ความปลอดภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุ ผลการศึกษาทั้ง 3 ข้อ รวม 100 คะแนน ไม่ทุบ 94.90 คะแนน ทุบ 85.80 คะแนน สะพานยังมีอายุการใช้งานอีกหลาย 10 ปี ทุบสะพานใช้เวลากว่า 2 ปี ผู้ใช้รถใช้ถนนและชุมชนต้องรับผลกระทบทั้งการสัญจรและการดำเนินชีวิตรวมทั้งต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่อีก 2 ปี จึงไม่ควรทุบสะพาน ทำให้ไม่ได้ข้อยุติและส่งผลต่อการพัฒนาขนส่งทางราง ทำให้การเดินรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีรถไฟโคกกรวดถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นคอขวด ขบวนรถไฟวันละกว่า 30 ขบวน ต้องรอสับหลีกและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ในขณะผ่านตัวเมือง โดยรองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สำรวจโพลเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทให้แล้วเสร็จก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้

ด้าน นายประพจน์ ส.อบจ.นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 กล่าวว่า แม้น มติการประชุม อจร.นม. ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ รฟท. ปรับรูปแบบก่อสร้างช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา รวมทั้งทุกภาคส่วนได้ชี้แจงปัญหาอุปสรรคและผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกมิติทั้งภาคสังคม เศรษฐกิจ ภูมิทัศน์เมือง เส้นทางระบายน้ำ ฯ แต่กระทรวงคมนาคม กลับยืนยันไม่ทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งเป็นปมขัดแย้งมากว่า 5 ปี ทำให้โครงการล่าช้าและเพิ่มงบดำเนินการจากต้นทุนวัสดุก่อสร้าง โดยผู้นำทั้ง 5 ตำบล จะลงพื้นที่ล่ารายชื่อประชาชนที่มีบ้านพักและที่ดินในรัศมีเส้นทางรถไฟผ่าน ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริงไม่ต้องสำรวจโพลอ้างกลุ่มตัวอย่างที่สามารถปั้นแต่งได้ เพื่อรวบรวมเสนอต่อ ครม.สัญจร พิจารณาปรับรูปแบบตามมติของชาวโคราชรวมทั้งเตรียมนัดชุมนุมเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์ให้เข้มข้นขึ้น