วันที่ 31 พ.ค.67 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย, พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.มนูญ แก้วก่ำ ผกก.1 บก.ป.,พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.2 บก.ป., พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป., พ.ต.อ.ภัทรพล ปัทมวงศ์ ผกก.สสน. บก.ป., พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นจับกุม กก.1 บก.ป., กก.2 บก.ป., กก.4 บก.ป. และ กก.สสน. บก.ป.
ด้วยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (Anti Online Scam Operation Center : CIB AOC) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพี่อการทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจับกุม การดำเนินคดีและขยายผลคดีอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งได้ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย โดยได้มีการปรสานงานร่วมกันกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมศุลกากร และ สำนักงาน กสทช. จนสามารถปราบปรามและจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงอาชญากรรมทางออนไลน์มาได้อย่างต่อเนื่อง จนมีผลการปฏิบัติล่าสุดดังนี้
กก.1 บก.ป. "ทลายจุดตั้ง Simbox ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์" ร่วมกันตรวจยึดของกลาง 1.อุปกรณ์ Sim box หรือ GSM Gateway รุ่น GoIP32-X4 สำหรับใส่ซิมได้ 128 ซิมการ์ด จำนวน 6 เครื่อง (ราคาเครื่องละประมาณ 120,000 บาท) 2.เครื่องกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ต (Wifi Router) จำนวน 2 เครื่อง 3.กล้องวงจรปิด จำนวน 2 ตัว
ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย 1. MR.QUANG THIN BUI หรือ นายต้น สัญชาติ เวียดนาม อายุ 35 ปี กล่าวหาว่า "มี ใช้ และนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต" 2. MR.DANH QUYEN DUONG สัญชาติ เวียดนาม อายุ 35 ปี 3. MR.VANANH NGUYEN สัญชาติ เวียดนาม อายุ 47 ปี โดยรายที่ 2 และรายที่ 3 จับกุม ดำเนินคดีข้อหา "เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ตาม ม.8 พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561" จับกุมได้ที่โกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 8 ต.ไผ่ต่ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี
พฤติการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ AOC ว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้โทรศัพท์โทรหลอกลวงประชาชนในลักษณะข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ AIS สำนักงานใหญ่ แจ้งว่า มีการนำเอาเอกสารและชื่อของผู้เสียหายไปลงทะเบียนในเลขหมายอื่นๆ ซึ่งเลขหมายดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดประเภทต่างๆ และให้แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการให้โอนเงินมาให้ตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. จึงได้ทำการสืบสวน จนพบว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้อุปกรณ์ Sim box หรือ GSM Gateway ซึ่งสามารถแปลงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นสัญญาณมือถือได้ในการหลอกลวงประชาชน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกลักลอบติดตั้งภายในประเทศ หรือชายแดนฝั่งเพื่อนบ้านที่ติดกับประเทศไทย ที่สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้ เมื่อคนร้ายโทรจากต่างประเทศไปหาประชาชนผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว จะแสดงผลเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของประเทศไทย ไม่มีการขึ้นหมายเลขหน้าเบอร์โทรว่าเป็นการโทรมาจากต่างประเทศตามมาตรการของ กสทช. (+66 , +697 , +698)
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 67 เจ้าหน้าที่ กก.1 บก.ป.พร้อมด้วย กก.สสน.บก.ป. จึงได้วางแผนกระจายกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ติดตั้งเครื่อง SIMBOX หรือ GSM Gateway จำนวน 4 จุด (กทม. 2 จุด, จ.นครปฐม 1 จุด และ จ.สระบุรี 1 จุด) ผลการตรวจค้น พบอุปกรณ์ SIMBOX หรือ GSM Gateway จำนวน 6 เครื่อง พบบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติ เวียดนาม จำนวน 1 ราย ได้แก่ MR. QUANG THIN BUI หรือ นายต้นฯ สัญชาติเวียดนาม จึงได้ดำเนินคดีในข้อหา "มี ใช้ และนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต" และพบต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีก 2 ราย จึงได้จับกุมดำเนินคดี ในข้อหา "เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้"
สอบถามปากคำผู้ต้องหาเบี้องต้น MR.QUANG THIN BUI หรือ นายต้น ให้การว่าเป็นผู้จัดหาห้องเช่า และขอติดตั้งอินเตอร์เน็ตตามจุดต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ชำระเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จริง ซึ่งตนได้ถูกจ้างวานมาจากบุคคลอื่นๆ และได้รับค่าจ้างค่าดำเนินการจุดละ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนขยายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป
จากการตรวจสอบอุปกรณ์ SIMBOX หรือ GSM Gateway ที่ตรวจยึดได้ พบว่า SIMBOX 1 เครื่องนั้นสามารถควบคุมสั่งการซิมการ์ด ได้พร้อมกัน 32 ช่อง โดยใน 1 วัน SIMBOX หรือ GSM Gateway 1 เครื่อง สามารถโทรออกได้มากกว่า 16,000 เบอร์ หรือมากกว่า 480,000 เบอร์/เดือน ซึ่งจากการตรวจยึดเครื่อง SIMBOX ครั้งนี้กว่า 96 เครื่อง สามารถตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้มากกว่า 46 ล้านเบอร์/เดือน
กก.2 บก.ป. ร่วมกับ กรมศุลกากร ปฏิบัติการ "สกัดกั้น STARLINK, ซิมการ์ด และจุดตั้ง Simbox" ร่วมกันตรวจยึดของกลาง 1.เครื่อง STARLINK จำนวน 4 เครื่อง 2.อุปกรณ์ Sim box หรือ GSM Gateway จำนวน 96 เครื่อง 3.ชุดเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 18 ชุด 4. จอแสดงผล 24 เครื่อง 5. ซิมการ์ดต่างประเทศ (ฮ่องกง) จำนวนประมาณ 27,019 ชิ้น 6. ซิมการ์ดประเทศไทย จำนวน 6,770 ชิ้น สถานที่ตรวจค้น ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคอีสาน และภาคเหนือ ทั้งสิ้น 14 จุด
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แจ้งว่า มีการนำเข้าเครื่อง STARLINK จำนวน 21 เครื่อง เครื่องดังกล่าวใช้ในการรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากดาวเทียม และซิมการ์ด จำนวนประมาณ 15,675 ชิ้น ซึ่งซิมการ์ดบางรายการ ถูกถอดออกจากบล็อคการ์ด ลักษณะคล้ายมีการใช้งานแล้ว ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจจะถูกนำไปใช้ใน การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ป. จึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พบว่า บุคคลและสถานที่ปลายทางการรับพัสดุจะอยู่บริเวณจังหวัดที่มีเขตติดต่อแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และมักจะมีชาวจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเครื่อง STARLINK อาจถูกนำไปใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียมของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช. ได้กวดขันการลักลอบใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์จากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค.67 กองบังคับการปราบปราม ได้เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ จำนวน 14 จุด ทั่วประเทศ จากการตรวจค้น ทั้ง 14 จุด พบเครื่อง STARLINK จำนวน 4 เครื่อง, อุปกรณ์ SIMBOX จำนวน 96 เครื่อง และซิมการ์ดทั้งของไทยและต่างประเทศ กว่า 33,000 ชิ้น โดยพบจุดติดตั้งอุปกรณ์ SIMBOX ดังกล่าว ภายในคอนโดที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตจังหวัดติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากการสอบถามปากคำ เป้าหมายทั้ง 6 ราย อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งเครื่อง STARLINK และซิมการ์ด แต่มีบุคคลที่ 3 (เพื่อนหรือคนรู้จัก) ขอใช้ชื่อที่อยู่ เพื่อรับสิ่งของดังกล่าว จากนั้นจะนำส่งต่อให้กับบุคคลอื่น โดยอาจมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้
กก.4 บก.ป. "ขยายผลเข้าค้นสถานที่จัดส่งเครื่อง STARLINK 6 แห่ง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย" สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ป. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเชียงแสน ทำการตรวจยึดสิ่งของต้องสงสัยว่าจะเป็นของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่า 6,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนขยายผลกรณีดังกล่าว จนพบสถานที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 1 แห่ง ใน จ.เชียงราย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ป. ได้รับการประสานงานจากศุลกากรเชียงใหม่ ว่าพบเครื่อง starlink ตกค้างอยู่ จำนวน 26 เครื่อง จากการสืบสวน พบสถานที่ต้องสงสัย จำนวน 5 แห่ง ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ป. จึงได้เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยทั้ง 6 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย โดยผลการปฏิบัติ ดังนี้
1.บ้านพัก ในพื้นที่ ม.3 ต.สันผักผวาน ใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ทำการจับกุม นาย MYO สัญชาติเมียนมาร์ ในข้อหา "เป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ" และตรวจยึด - อุปกรณ์ขยายสัญญาณ Wifi Access Point Outdoor พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง 1 ชุด - เครื่องมือรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง 1 ชุด - เครื่องทดสอบสาย LAN เครือข่ายโทรศัพท์สำหรับสายเคเบิลเครือข่าย จำนวน 1 เครื่อง - อุปกรณ์ขยายสัญญาณ Wifi ขนาดพกพา จำนวน 1 ชิ้น - คีมเข้าหัวสาย Lan / สายโทรศัพท์ สีดำฟ้า จำนวน 1 อัน - สายแลนภายนอก จำนวน 1 ม้วนใหญ่
2. บ้านพัก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทำการจับกุม 1.) MS.MU EMILY สัญชาติเมียนม่า อายุ 28 ปี 2.) Ms.Khin Myo Nwe สัญชาติ เมียนม่า อายุ 27 ปี 3.) Ms.Juliet Meber สัญชาติ เมียนม่า อายุ 26 ปี 4.) Ms.Lar Coretti สัญชาติ เมียนม่า อายุ 29 ปี ในข้อหา "ร่วมกันมีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต" พร้อมของกลาง 1.) สายอากาศสไลด์ 10 ท่อน ชนิดพกพา จำนวน 54 เสา 2.) สายอากาศใบข้าว ชนิดพกพา จำนวน 9 เสา 3.) สายอากาศสไลด์ ชนิดพกพา จำนวน 9 เสา 4.) สายนำสัญญาน จำนวน 5 สาย 5.) เครื่องวิทยุสื่อสารแบบประจำที่ ยี่ห้อ I COM จำนวน 5 เครื่อง 6.) เครื่องวิทยุสื่อสารแบบเคลื่อนที่ ยี่ห้อ I COM จำนวน 30 เครื่อง 7.) สายอากาศประจำที่แบบ 5/8 จำนวน 3 ต้น 8.) กุญแจมือ จำนวน 50 อัน
สอบปากคำเป้าหมายและบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ตรวจค้น พบว่า ส่วนใหญ่อ้างว่าไม่ทราบรายละเอียดการสั่งซื้อเครื่อง Starlink บางส่วนอ้างว่าเป็นของผู้อื่นฝากส่งมาที่บ้านที่ตนอาศัยอยู่
จากการพิจารณาสิ่งของที่ตรวจพบในครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกันที่ ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์รองรับการใช้อินเตอร์เน็ต และไม่มีการติดตั้งถาวร แต่มีลักษณะพร้อมเคลื่อนย้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้ทำการสืบสวนต่อไป