วันนี้ (31 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครอง โดยระบุว่าได้รับมอบอำนาจจากประชาชนที่มีความกังวลต่อกรณีกรณีรัฐบาลมีนโยบายนำข้าวสารเก่าทีอายุ 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโกดังจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 2 โกดัง ปริมาณ 15,000 ตันออกมาประมูลขาย โดยไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบคุณภาพข้าว ทั้งที่มีข้อมูลที่ขัดกันระหว่างนักวิชาการจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ กับข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ขัดแย้งกัน เกี่ยวกับคุณภาพของข้าวเก่า 10 ปี จะนำมาบริโภคได้หรือไม่ ประชาชนไม่รู้จะเชื่อข้อมูลของใครดี จึงมายื่นฟ้ององค์การคลังสินค้า (อคส.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาดำเนินการประมูลขายข้าวเก่า10 ปีขัดต่อขัดต่อประกาศของกระทรวงสาธารณะสุข และประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งระงับหรือให้ อคส. กระทรวงพาณิชย์ หรือ นบข. สั่งทบทวนการจัดทำ TOR ประมูลขายข้าวเก่าดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป และในการยื่นฟ้องในวันนี้ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการยื่นซองและเปิดซองประมูลข้าวดังกล่าวที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนไว้ก่อนด้วย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า มีนักวิชาการ และทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาบอกว่า ข้าวเก่าอายุ 10 ปี ไม่มีคุณค่าทางอาหาร รวมถึงมีความเสี่ยงในเรื่องของจุลินทรีย์ เชื้อโรค สารพิษ เพราะต้องมีการรมควันข้าวๆ ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีสารพิษเหล่านี้เจือปนอยู่ โดยรัฐบาลมีความพยายามแก้เกม ด้วยการส่งตัวอย่างไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พิสูจน์ แต่กรมวิทย์ฯได้พิสูจน์แล้ว ก็มีบางส่วนที่ระบุว่าข้าวมีการเจือปนของตัวมอด แมลง ต่างๆ ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอาหาร เพียงแต่ว่าสารพิษต่างๆ ที่มีคนวิตกนั้นไม่เกินไปกว่าที่มาตรฐานกำหนด แต่ในทางวิชาการการหยิบสุ่มตรวจข้าว ไม่มีใครรู้ว่าสุ่มจากจุดไหนของกองข้าว หรือนำมาจากแหล่งใด เพราะกรมวิทย์ฯอยู่ที่สำนักงานของตัวเอง เขาไม่ได้ไปสุ่มตรวจที่โกดังข้าว จึงเป็นข้อสงสัยอาจนำข้าวจากที่อื่นมาให้กรมวิทย์ฯสุ่มตรวจก็ได้
"การที่รัฐบาลผลักดันให้มีการออกมาจำหน่ายข้าว เพื่อให้ข้าวโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2555-2556 หมดไป อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะเงื่อนไขทีโออาร์ ไม่มีข้อจำกัดให้ผู้ที่จะประมูลได้ดำเนินการนำข้าวดังกล่าวไปขาย หรือจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งการส่งออกข้าวก็จะเป็นการดิสเครดิต คุณภาพ และชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมานำ 10 ปี 100 ปี” นายศรีสุวรรณ กล่าว
เมื่อถามว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนข้าวของรัฐบาล ควรเปิดโอกาสให้แลปเอกชนมามาร่วมตรวจสอบได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณกล่าวว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชน ควรจะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา โดยเชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาหรือแลปทดสอบต่างๆ มาดำเนินการตรวจสอบคุณภาพเข้า โดยเริ่มตั้งแต่การไปสุ่มเก็บตัวอย่างให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ในการสุ่มเก็บตัวอย่างกองข้าว ทั้งด้านข้าง ด้านกลาง ด้านใน ต้องเก็บตัวอย่างให้ครบทุกพื้นที่ ไม่ใช่หยิบเอาตัวอย่างจากไหนมาก็ไม่รู้ แล้วมาอ้างว่าเป็นข้าวมาจากโกดังข้าว ซึ่งประชาชนไม่มีใครสนใจแล้ววันนี้