หมายเหตุ :  “พล.ต.ท.อาชยน  ไกรทอง” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonlien เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ถึงประเด็นสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ความมั่นคง  จะเป็นอย่างไร เมื่อมีจุดเปลี่ยนสำคัญ กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” อดีตแกนนำม็อบราษฎร รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตลอดจนการสื่อสารต่อสังคมในท่ามกลางความเห็นต่าง สตช.จะรับมืออย่างไร

- ในด้านความมั่นคง สตช. วางแนวทางกำกับดูแลอย่างไร

ในความเป็นจริงแล้ว ทางสตช. ทำหน้าที่เป็นผู้คุมกฎ  เป็นผู้รักษากฎหมาย ฉะนั้นในส่วนนี้เราต้องมีความแน่วแน่ที่จะต้องรักษากฎหมายเอาไว้ และหนีไม่พ้นที่จะต้องดูเรื่องความมั่นคงร่วมกับหน่วยข่าวต่างๆ เพื่อที่ประมวลออกมา แล้วทำทุกอย่าง เพื่อให้ประชาชนและสังคมมีความสงบสุข ซึ่งสตช.ต้องติดตามไปตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหน ก็ตาม  สตช.ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตามข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคง กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เราต้องดูแลทุกมิติในเรื่องความสงบสุขของพี่น้องประชาชน ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการ การทำงานร่วมกัน

-เมื่อนโยบายยาเสพติดของรัฐบาลเปลี่ยนแปลง จากที่เคย ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ให้เหลือเพียง 1 เม็ด ถือว่าผิดกฎหมาย

ทางสตช.จะเป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งต้องปฏิบัติไปตามกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย และนโยบาย ดังนั้นเมื่อมีการสั่งการลงมา ทางสตช.ก็จะต้องรักษา กฎ ระเบียบนั้น และทำตามนโยบาย โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ กรณียาเสพติด จะประสานกับป.ป.ส.,กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการตามภารกิจให้ลุล่วง

จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ต้องถือว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตามแนวชายแดน ร่วมกับทหาร เพื่อป้องกัน การลำเลียงไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชั้นใน เพื่อมาขายต่อหรือส่งออก ในส่วนของการปราบปราม เราต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากหมู่บ้าน มหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทางกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจะเป็นหน่วยหลักที่จะประสานงานกับพื้นที่ต่างๆที่จะมีการจับกุม

และโดยเฉพาะในส่วนของการบำบัด ที่จะต้องเข้าไปสืบค้นดูว่า ในชุมชนต่างๆมีประชาชนที่เข้าข่ายเข้ารับการบำบัดกี่ราย โดยร่วมกับทางฝ่ายปกครอง ทางสาธารณสุข เพื่อที่จะให้เข้าไปอยู่ในโหมดของการบำบัดตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ร่วมมือกับทางทหาร เราอาจจะต้องนำผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดไปอยู่ในค่ายทหาร ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล ตรงนี้ เราจะสามารถลดในเรื่องการเกิดเหตุหรือ ช่วยผู้ติดยากลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของตำรวจ จำนวนกว่า  1,480 สถานีตำรวจมีชุมชนที่จะต้องเข้าไป อย่างน้อย 1ชุมชน ดังนั้นจำนวน 1,400 กว่าชุมชนเราจะคัดเลือกดูว่าชุมชนไหน ที่เราจะสามารถนำผู้บำบัด ออกมาให้มากที่สุดเพื่อที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนอีกครั้งหนึ่ง จุดนี้เรากำลังทำอยู่ ควบคู่ไปกับการป้องกัน ปราบปรามและบำบัด ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องยึดหลักอยู่แล้ว คงไม่ได้เข้มข้นขึ้น หรือเบาลง แต่วันนี้เราต้องดูสถานการณ์

อย่างวันนี้เราต้องดูว่ากรณีเยาวชน มีประเด็นอะไรบ้าง ที่เราต้องเข้าไปช่วยดูแล เริ่มต้นที่การทะเลาะวิวาท  การใช้ยาเสพติด การไปมั่วสุม เพื่อก่ออาชญากรรมในประเภทต่างๆ ทั้งสามส่วนนี้ ส่วนที่สตช.ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือส่วนของท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นนครบาล ภูธร ภาค1-9 ก็จะต้องใช้หลักที่ไม่เหมือนกัน อย่างกรุงเทพฯ สถานการณ์จะเป็นอีกแบบหนึ่ง  

ต่างจังหวัดก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ทุกๆที่ จะใช้นโยบายเดียวกันว่าในทุกๆที่เราต้องเดินไปถึงครู อาจารย์ พ่อแม่ พี่น้อง ส่วนประกอบเช่น รถซิ่งก็จะเป็นเรื่องร้านอะไหล่รถ การปรับแต่งรถ ถ้าเป็นเรื่องยาเสพติดก็เป็นแหล่งมั่วสุมตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการ สถานบันเทิง หรือร้านเกมส์ ก็ต้องเข้าไปช่วยเอกซเรย์ ไปดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของเยาวชน ก็ต้องดูว่าช่วงปิดเทอมเป็นอย่างไร เปิดเทอม เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ จะหมุนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์

-การเรียกศรัทธา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กลับคืนมา

ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะตำรวจจำนวนสองแสนกว่านายที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ก็คงต้องมีบ้าง ที่บางนายอาจจะมีปัญหา หรือเรื่องที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมากขึ้น ตำรวจอาจจะตามทันบ้าง ไม่ทันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ถือว่า ทุกเรื่องเราให้ความสำคัญเท่ากันหมด

เรื่องของความยุติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และการแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วให้กับประชาชน โดย3-74เรื่องใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด  ปัญหาทางออนไลน์ เรื่องของสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตำรวจต้องปรับตัวให้ทัน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องสื่อสารถึงตำรวจทั่วประเทศ เรื่องของความตั้งใจ และความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของพฤติกรรม กฎหมาย ข้อเท็จจริง เราจะต้องมีการปรึกษา หารือ และต้องมีแผนไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ ให้เข้าใจ และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นคนยุคนี้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะทำอย่างไร จึงจะสื่อสารกันให้เข้าใจ ในบริบทของการปฏิบัติหน้าที่

เราเน้นย้ำว่า ถ้าตำรวจเราไปกระทำผิด เราไม่เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดหรือความผิดอาญา ก็ต้องดำเนินการ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำดี  เข้าไปให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทุ่มเท เราก็จะต้องให้รางวัล

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของข่าวสารเชิงลบที่ออกมา ให้รวดเร็ว โดยหลักง่ายๆ ของโฆษกตำรวจที่ยึดเป็นหลักปฏิบัติกันเสมอมา คือความโปร่งใส  ข้อเท็จจริงและความรวดเร็ว อันจะเป็นหลัก เพื่อให้เราสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคม หากผิดก็ต้องแก้ไข เร่งดำเนินการ หากถูกก็ต้องเร่งชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

หลักการไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันนี้เรามีคนหลายเจน เข้ามาอยู่ในชีวิตตำรวจ  ฉะนั้นคนที่อยู่ในเจน ของผู้สูงอายุ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาเข้าใจว่า อะไรๆก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมทั้งคำพูดต่างๆ

เชื่อไหมครับ เรื่องร้องเรียนตำรวจส่วนใหญ่ เกิดจากคำพูดไปที่กระทบกับพ่อแม่พี่น้อง มากถึง 80-90 % ซึ่งเราก็ต้องปรับในเรื่องทัศนคติ เรื่องการสื่อสาร

ประการที่สอง คือเรื่องของตำรวจรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน  เราก็ต้องดูว่าจะสื่อสารอย่างไร เพื่อให้เขาได้เข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีการเปิดเผย ถ่ายคลิป เป็นเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว  ได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาแล้วก็อาจจะรายงานมาที่ทีมโฆษกสตช. หรือของจังหวัด ของภาค เพื่อกระจายข่าวเป็นภาพลักษณ์เชิงบวก ให้ประชาชนเข้าใจว่าใน 1วันนั้นสายตรวจของเรา แสนกว่านายเราทำอะไรอยู่ ช่วยประชาชนอย่างไร  ทำดีต้องให้รางวัล

ต้องสื่อสารให้แต่ละเจน ของตำรวจเองเกิดควาเข้าใจ เรามีข้อเด่น ข้อด้อย อย่างไรต้องมาแชร์ กัน แต่ตำรวจแต่ละรุ่นเกิดความเข้าใจต่อกันในเรื่องของการทำงานด้วย

-ความแตกต่างทางความคิด

ขอเรียนว่า ในความเป็นโซเชียล ในความเป็นบุคคล ทุกคนจะต้องมีความเห็นที่หลากหลาย และเราก็เห็นว่าสิ่งตรงนั้นจะต้องไม่ละเลย และยังยืนยันว่าจะต้องอธิบาย ในสิ่งที่เป็นหลักการ  สิ่งที่เป็นแอ็กชั่นของเรา ให้ประชาชนเข้าใจ ตำรวจยืนอยู่บนความขัดแย้งของคนสองกลุ่มอยู่แล้ว เราจับเขา เขาก็ต้องต่อสู้ทางคดี  เราไม่จับเขาเพราะอะไร เราต้องดำเนินคดีเขาเพราะอะไร อย่าเหนื่อย อย่าหยุดที่จะอธิบาย เพราะการอธิบาย จะเป็นคำตอบได้ในหลายๆส่วนที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีมิติทรรศนะเข้าใจ

ก็อาจจะมีอยู่บ้างสำหรับคนที่ปิดหู ปิดตา แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วเขาก็จะเข้าใจ อยากให้ประชาชนเข้าใจในบริบทที่ตำรวจต้องทำ ซึ่งในแต่ละวันมีข้อขัดแย้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด่านตรวจจับคนเมา ด่านตรวจวินัยจราจร  หรือสิ่งที่ผมเจอมากที่สุดคือกรณีที่ว่าแจ้งตำรวจแล้ว แต่ไม่ทำอะไร ซึ่งตรงนี้ตำรวจก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ เรื่องบางเรื่องมีความละเอียดอ่อน เราก็ต้องเก็บข้อมูลแล้วมาอธิบายให้ตำรวจฟังด้วย ให้ประชาชนฟังด้วย ดังนั้นเราจึงอย่าเหนื่อยที่จะต้องอธิยาย

-ฝากถึงประชาชน

ไม่ว่าประชาชนจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อตำรวจ แต่ผมเชื่อว่า หลายคนต้องมีความรู้สึกที่เป็นบวกบ้าง เป็นกลางบ้าง หรืออาจจะเป็นลบบ้าง แล้วแต่กรณีไป หรืออาจจะทุกกรณีเลย แต่สำหรับเรา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอยืนยันว่า เราทำหน้าที่เพื่อปกป้อง เพื่อดูแล ทุกข์ สุข ของประชาชนโดยไม่เลือก ไม่ว่าใครจะเห็นเราเป็นอย่างไร แต่เราจะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึง ทุกๆคนอย่างเป็นธรรม