การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเม็ดเงินที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเม็ดเงินที่ไหลเข้ามามาก และเร็วที่สุดมาจากการท่องที่ยว

ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ได้มีมาตรการและแนวทางในการตรวจลงตราและส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะที่ซบเซาเรื้อรังยาวนาน และตัวเลขฟ้องว่าจีดีพีโตต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชน ด้วยการเร่งเดินหน้านโยบายด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โดยสิ้นปี 2567 รัฐบาลจะเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท

เป็นแนวทางที่รัฐบาลหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศรอดไปได้ในช่วงวิกฤตินี้!!!

และหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้ คือ “สนามบิน” ซึ่งถือเป็นประตูที่ต้อนรับ และ ส่งนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมายังประเทศไทย โดย “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)” หรือ AOT พร้อมส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” ที่มีเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 150 ล้านคนต่อปี ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก

“นายกีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะ (เฟส) ที่ 3 เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการฯ และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนจะนำไปพิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียดฯ ให้มีความเหมาะสมต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะออกแบบโครงการฯ แล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค. 2567 เปิดประกวดราคาประมาณเดือน มี.ค. 68 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ อาคาร 3 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1.4 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เป็นลำดับแรกภายในปี 68 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 2572

นายกีรติ กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟสที่ 3 วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ต้องการให้เป็นสนามบินที่มีความสะดวกสบาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 30 เป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยการพัฒนาจะทุบอาคารภายในประเทศหลังเก่าที่ปิดการใช้งาน มาสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อใช้อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ พื้นที่ประมาณ 1.6 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 23 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ จะสร้างอาคารที่จอดรถยนต์รองรับได้เพิ่มขึ้นอีก 4 พันคัน จากเดิม 2 พันคัน รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ที่เป็นอาคารระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยรวมพื้นที่เข้ากับอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ รวมมีพื้นที่ 2.4 แสน ตร.ม. ส่งผลให้ท่าอากาศยานดอนเมือง จะมีพื้นที่รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 4 แสน ตร.ม. มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบิน เพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ

นายกีรติ กล่าวว่า ยังจะพัฒนาอาคารคลังสินค้า 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นอาคารเครื่องบินส่วนบุคคล (Privete Jet) พร้อมโรงจอด และศูนย์ซ่อมบำรุง อยู่ด้านทิศเหนือของสนามบิน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีให้บริการอยู่ด้านทิศใต้ของสนามบิน โดย MJET เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินส่วนบุคคลให้มากขึ้น จากเดิมประมาณ 30 เที่ยวบินต่อวัน เป็นประมาณ 60 เที่ยวบินต่อวัน รองรับการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้น และดึงกลุ่มผู้โดยสารชั้นดีเดินทางมาประเทศไทย รวมถึงรองรับการเป็นฮับการบินภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล และดึงเที่ยวบินจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นฮับเครื่องบินส่วนบุคคล ที่มีเที่ยวบินใช้บริการประมาณวันละ 200 เที่ยวบินต่อวันด้วย 

เบื้องต้นการก่อสร้างอาคารเครื่องบินส่วนบุคคล จะแยกสัญญาประมูล โดยเป็นการลงทุนในรูปแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) สัมปทานประมาณ 15-20 ปี คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 โดยในการประมูลจะนำอาคารเครื่องบินส่วนบุคคลหลังปัจจุบัน ที่จะหมดสัมปทานในปี 2569 เข้ามาร่วมประมูลพร้อมกันทั้ง 2 อาคาร ซึ่ง ทอท. คาดว่าการสร้างอาคารเครื่องบินส่วนบุคคลเพิ่มเป็นแห่งที่ 2 จะช่วยสร้างรายได้ให้ ทอท. เพิ่มประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 และอาคารเครื่องบินส่วนบุคคลจะแล้วเสร็จทั้งหมด และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2574

ส่วนการจัดทำระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทอท. มีแผนจะให้บริการภายในท่าอากาศยานดอนเมือง นายกีรติ กล่าวว่า APM ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 อยู่แล้ว แต่ที่ก่อนหน้านี้เคยระบุว่าจะมี APM ให้บริการ เนื่องจากเดิม ทอท. จะพัฒนาพื้นที่อาคารคลังสินค้า 4 เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีระยะห่างจากอาคารผู้โดยสารมากกว่า 1 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องใช้ APM เข้ามาให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสาร แต่ปัจจุบัน ทอท. เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นอาคารเครื่องบินส่วนบุคคล ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ APM และจะใช้ทางเดินเลื่อนอัตโนมัติสำหรับอำนวยความสะดวกในการเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และระหว่างประเทศทั้ง 3 อาคาร ซึ่งมีระยะทางไม่ไกลแทน

งานนี้หวังว่าการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพ “สนามบินดอนเมือง” ครั้งนี้จะคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุน!!!