กกต.ขีดเส้น ผู้สมัครสว.ไม่มีชื่อในประกาศ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 1 มิ.ย. สรุปตัวเลขแจ้งยอดผู้สมัครสว. 20 กลุ่ม พร้อมตัดสิทธิผู้สมัครขาดคุณสมบัติ 2,020 คน แสวงวอนอย่าโทษกกต. หลังถูกตัดสิทธิ  

    
 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งรายงานการรับสมัครและการตรวจสอบคุณสมบัติการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.)2567 ดังนี้ มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 48,226 คน ชาย 27,839 คน หญิง 20,387 คน แต่จำนวนผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน หลังปิดรับสมัคร เมื่อวันที่ 24 พ.ค.67 จำนวน 48,117 คน เป็นชาย 27,779 คน และหญิง 20,338 คน
    
 สำหรับจำนวนผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน ข้อมูลในวันที่ 29 พ.ค.67 จำนวน 46,206 คน โดยเป็นชาย 26,727 คน และเป็นหญิง 19,479 คน  สรุปตั้งแต่การรับสมัคร มีผู้สมัครผู้ขาดคุณสมบัติจำนวนทั้งสิ้น 2,020 คน เป็นชาย 1,112 คน และหญิง 908 คน หลังจากการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 24 พ.ค.67 จาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพตามที่กฎหมายกำหนด
     
ทั้งนี้ ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่มีชื่อในประกาศ บัญชีรายชื่อผู้สมัคร (สว.อ.13) มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา (มอบอำนาจให้ศาลจังหวัด) ภายในวันที่ 1 มิ.ย. หรือ ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้สมัครสว.2567 ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามจึงไม่ประกาศบัญชีรายชื่อเป็นผู้สมัคร ส่วนมากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค หรือไม่ไปใช้สิทธิ์ หรือถูกจำกัดสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด
  
   นายแสวง บุญมี  เลขาฯ กกต.  แถลงหลังมีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครเป็น สว. 2,020 คน   และพบว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ว่า ขณะนี้มีผู้สมัคร สว.ที่มีลักษณะดังกล่าวมายื่นร้องต่อ กกต.   ซึ่งในข้อเท็จจริงจะต้องไปร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน  เรื่องลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก่อนการสมัคร ว่าผู้ที่เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี    ส่วนคนที่เป็นสมาชิกพรรค  หากมีหลักฐานว่าได้ยื่นลาออกแล้ว กระทั่งในวันลงสมัครผู้อำนวยการเลือก สว.ก็จะรับสมัครให้อยู่แล้ว 
    
   การพ้นจากการเป็นสมาชิก   หากมายื่นลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองที่สำนักงาน กกต.ก็จะมีผลทันที   ที่ผ่านมาเราอนุโลมให้ยื่นลาออกที่สำนักงาน กกต.จังหวัดด้วย  แต่ถ้าไปยื่นลาออกกับนายทะเบียนสมาชิกพรรค คือการยื่นที่พรรค   ทางพรรคจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล  ซึ่งจะมีการแจ้งให้ กกต.ทราบภายใน 15 วัน  การส่งข้อมูลนั้นอาจจะล่าช้า แต่ กกต.ก็ยึดหลักฐานใบลาออก  ถ้าผู้สมัครมีหลักฐานดังกล่าวก็จะมีการรับสมัครทุกราย ดังนั้นจะมาโทษกกต.ไม่ได้  เพราะการเป็นสมาชิกพรรค   พรรคเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ   และสามารถตรวจสอบได้ ตอนนี้ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลฎีกา  
   
  นายแสวง  กล่าวต่อว่า ในส่วนของ 2,020 คน  ที่ถูกตัดสิทธิจะกระทบกับจำนวนกลุ่มภายในอำเภอ และจะกระทบกับการเลือกไขว้หรือไม่  ตรงนี้ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม
   
  นายแสวง  กล่าวชี้แจงเรื่องที่ กกต.ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2567  ที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับบัตรเลือก สว.  ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงาน  ซึ่งทุกการเลือกตั้ง สิ่งที่สำนักงานตระหนักคือทำอย่างไรให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าได้อย่างไร  และรักษาเจตจำนงของผู้ลงคะแนน    การเลือก สว.ครั้งนี้มีลักษณะเฉพาะ  ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกและเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือก  และในการเลือกไขว้ระดับประเทศ   ผู้เลือกจะมีคะแนนเสียงถึง 10 คะแนน   และในมาตรา 56 (6) ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ได้กำหนดรูปแบบบัตรเสียไว้  ว่าถ้าไปเขียนหมายเลขประจำตัวของผู้ไม่มีสิทธิได้รับเลือก จะกลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ   ทั้งๆ ที่ช่องอื่นๆ ในบัตรเดียวกันนี้อาจจะเป็นบัตรดี   หลายเลขคนอื่นถูกทั้งหมด
    
 สมมุติว่าในวันเลือก  มีผู้ไม่มารายงานตัว หรือตกรอบในช่วงเช้า   ช่วงบ่ายหากมีผู้สมัครไปเขียนหมายเลขผู้ตกรอบลงในบัตร   บัตรนั้นจะเสียทั้งฉบับ    ที่กฎหมายออกแบบมาเช่นนี้เพื่อป้องกันการฮั้ว  สำนักงาน กกต.ก็เห็นว่าทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ ดังนั้น ถ้ายังคงรูปแบบการออกเสียงในบัตรใบเดียวอาจจะทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์   จึงได้ออกแบบบัตรใหม่โดยคิดว่า  ทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด   เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย และไม่ต้องมีใครเสียคะแนนจากปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดเขา และเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มาสังเกตการณ์ นายแสวงกล่าว 
   
  เมื่อถามว่า มีผู้กังวลว่า การออกแบบบัตรเลือก สว.ใหม่นี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการฮั้วกันง่ายขึ้น  นายแสวง ถามกลับว่า จะทำให้เกิดการฮั้วตรงไหน  ไม่ใช่พูดลอยๆ ต้องยกตัวอย่าง ว่าจะทำให้เกิดการฮั้วอย่างไร  แต่สำหรับบัตรใหม่นี้ขอยืนยันว่าจะยิ่งทำให้เกิดการฮั้วยาก   ส่วนโอกาสที่จะสลับบัตรกัน   แล้วหย่อนลงผิดหีบนั้น   ก็ไม่มี   เพราะเราตั้งแถวแยกเป็นกลุ่มๆ   ดังนั้นจะไม่มีโอกาสสลับ   การแสดงตัวครั้งแรก คือการตรวจสอบว่า บัตรกับคนตรงกันหรือไม่  จำนวนเท่ากันหรือไม่แล้วค่อยนับ   นั่นแสดงถึงความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนหรือผู้สมัครที่อยู่ในนั้น สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างละเอียด  
   
  เมื่อถามถึงการดูแลความสงบ เรียบร้อยในวันเลือก สว.   นายแสวง กล่าวว่า ทางกกต.จะมีเจ้าหน้าที่ 2 ชุด ในการดูแล คือ มีชุดรักษาความสงบ และชุดรักษาความปลอดภัย   หลายร้อยคน    กรณีมีผู้กังวลเรื่องการพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่คิดว่า ไม่น่าจะมี   โดยเฉพาะผู้สมัคร สว.โทรศัพท์ยังพกเข้าไปไม่ได้    สิ่งที่นำเข้าไปได้มีเพียงใบแนะนำตัวเอง (สว.3) และคู่มือที่ใช้ในการลงคะแนน    นอกนั้นเอาอะไรเข้าไปไม่ได้   อาวุธยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะ สว. กำลังจะเข้าไปรับผิดชอบประเทศ ไม่ควรจะทำอะไรแบบนี้ 
    
 เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการการเมือง หรือ ไอลอว์   ที่ขอเข้าไปสังเกตการณ์ ทาง กกต.อนุญาตหรือไม่    นายแสวง กล่าวว่า ในที่เลือกไม่มีคนเข้าไปได้   ส่วนนอกพื้นที่เลือก  สว.ประชาชนทุกคนสามารถสังเกตการณ์ได้   กรรมาธิการฯ และไอลอว์ก็สิทธิ์เท่ากัน 
   
  เมื่อถามถึงกรณีมีการโพสต์เฟสบุ๊ค ตั้งข้อสังเหตุผู้สูงอายุไปสมัคร สว.จำนวนมาก เสี่ยงเกิดการฮั้ว  มีการตรวจสอบตรงนี้หรือไม่  นายแสวง กล่าวว่า ทางพื้นที่มีการเข้าไปดูและสอบถามเบื้องต้นหลัง    จากเห็นว่าผิดสังเกต   ซึ่งก็ทำให้ผู้สมัครเกิดความน้อยใจ ตกใจว่า ตัวเขาตั้งใจมาสมัคร   แต่กลับถูกสอบแล้วอย่างนั้นหรือ  ดังนั้นในส่วนของพื้นที่มีการหาข้อมูลอยู่   แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเขาอยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาเป็น  สว. เมื่อผิดสังเกตพนักงานของเราก็ไปบันทึกเหตุการณ์ และสอบถามข้อมูลไว้ก่อน ทั้งนี้พบในหลายพื้นที่


 ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ได้ลงนามในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสว. (ฉบับที่2)พ.ศ.2567 โดยเนื้อหาสาระหลักเป็นยกเลิก และการแก้ไขระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสว. พ.ศ.2567 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบัตรลงคะแนน ลักษณะบัตรดีบัตรเสีย การวินิจฉัยบัตรลงคะแนน และตัวและภาพตัวอย่างบัตรลงคะแนน อาทิ บัตรลงคะแนนที่ให้ถือเป็นบัตรเสียทั้งฉบับและไม่ให้นับเป็นคะแนน ได้แก่ 1.บัตรปลอม 2.บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรลง คะแนนนอกจากหมายเลขผู้สมัคร เว้นแต่ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการ เกี่ยวกับการเลือก
     
  3.บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน 4.บัตรที่มิอาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด 5.บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก 6. บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด 7.บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน 8.บัตรที่มีใช่บัตรซึ่งกรรมการประจำสถานที่เลือกมอบให้
     
ทั้งนี้บัตรลงคะแนนที่จะนับเป็นคะแนนจะต้องเขียนด้วยหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิกเท่านั้น และยังกำหนดลักษณะของบัตร"ดีบางส่วน"ซึ่งสามารถนับเป็นคะแนนได้ คือบัตรลงคะแนนที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครในช่องเขียนหมายเลข ประจำตัวผู้สมัครโดยให้นับคะแนนใน ช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ที่สามารถนับคะแนน ได้"


 ทั้งนี้ ทางสำนักงาน กกต.ได้แจ้งระเบียบดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมแล้ว เนื่องจากระเบียบอยู่ในระหว่างการลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับ
     
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า กกต. เปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือก ส.ว. แบบเลือกไขว้ จาก 1 ใบ 4 ช่อง เป็น 4 ใบๆ ละ 1 ช่อง 
    
 1.รูปแบบใหม่ เอื้อต่อการทุจริต หากคนใช้บัตรทั้ง 4 ใบ เลือกกลุ่มเดียวที่ตนจัดตั้ง บัตรไปอยู่ในหีบ ตรวจสอบไม่ได้ คะแนนคนนั้นเพิ่ม 4 เท่า 2.รูปแบบเดิม เป็นรูปแบบที่ประกาศในราชกิจจา ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 มีพิมพ์ตัวอย่างในคู่มือการเลือก ส.ว. มีการอบรมเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และอาจมีการให้โรงพิมพ์จัดพิมพ์บัตรไปแล้ว การเปลี่ยนรูปแบบบัตรใหม่ ใครรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
    
 3.ขณะนี้ ยังไม่ประกาศในราชกิจจา แต่กลับมีหนังสือเวียนถึง กกต.ทุกจังหวัดให้ปฏิบัติตามแล้ว 4.คำถามที่ กกต. ควรตอบสังคม คือ ใครเสนอเปลี่ยน มีมติเมื่อไร ทำไมไม่ทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เพื่อให้คู่มือและการฝึกอบรมเป็นไปในแนวเดียวกันและได้เตรียมการป้องกันการทุจริต ในกรณีบัตรหลายใบแต่กากลุ่มเดียวซ้ำกันอย่างไร