“เศรษฐา” ยอมรับที่ประชุมมีการหารือเรื่อง ‘บิ๊กโจ๊ก’ ปัดตอบรายละเอียดโยน รรท.ผบ.ตร.ตอบแทน “บิ๊กต่าย” ยันไม่เพลี่ยงพล้ำเซ็นคำสั่ง ”บิ๊กโจ๊ก“ ออกจากราชการ ยันทุกอย่างยึดตามกฎหมายเป็นตัวตั้ง
วันที่ 30 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ครั้งที่ 4/2567 และการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่ต่อเนื่องถึง 2 คณะด้วยกัน ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม. ก่อนลงมาชี้แจงกับสื่อมวลชน ยอมรับว่าในที่ประชุม ก.ตร.วันนี้ มีการพิจารณาความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา เรื่องคำสั่งให้ออกจากราชการก่อนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนรายละเอียดให้รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจง
เมื่อถามถึงสถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ณ ปัจจุบัน จะต้องส่งไปให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความหรือไม่ นายเศรษฐา ยืนยันคำเดิมว่าให้รักษาราชการแทนฯ เป็นผู้ชี้แจง
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกประเด็นของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขึ้นมาหารือในที่ประชุม ใช้เวลาประมาณ 10 นาที รักษาราชการแทนฯ ไม่ได้ร่วมประชุมด้วย เพราะมองว่ามีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้
ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการพิจารณากฤษฎีกาตีความเรื่องการออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่า ในวาระนั้นตนไม่ได้นั่งอยู่ในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องคำร้อง แต่ตนต้องออกจากห้องประชุม เนื่องจากอาจจะมีการพิจารณาที่ไม่เป็นกลางได้ เพราะตนเป็นผู้ออกคำสั่งออกจากราชการ เมื่อเป็นผู้ออกคำสั่งหากชี้แจงอะไร ข้อกฎหมายเกรงว่าอาจจะเข้าข้างตัวเอง เพราะกฎหมายหมายถึงตนอาจเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย
“ส่วนคำสั่งออกจากราชการที่ผ่านมาตนไม่ได้พูดว่ามั่นใจในตัวคำสั่ง เพราะเป็นการพิจารณาตามที่ฝ่ายอำนวยการได้เสนอตามข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2565 จากนี้จึงเป็นเรื่องระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับ สำนักนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมายเป็นกระบวนการขั้นตอนที่ดำเนินการตามมาตรา 140 ส่วนจะสมบูรณ์หรือไม่ตนเองไม่สามารถให้คำนิยามคำนี้ได้“ รรท.ผบ.ตร. กล่าว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ตามมาตรา 120 ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดสืบสวน และจาก คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) รวมทั้งจะมีการพิจารณาตามมาตรา131 เรื่องบทลงโทษ ยืนยันว่ามีการพิจารณาตามขั้นตอนที่จะนำไปสู่มาตรา 140 คือการทูลเกล้าฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่กฤษฎีกาฯ ตีความประเด็นออกจากราชการกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการเพลี่ยงพล้ำหรือไม่ รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า ไม่เพลี่ยงพล้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามมาตรา 140 ส่วนสถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายการที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน กระบวนการต่างๆพิจารณาตามกฎหมาย ถ้าถามว่าสถานะเป็นอย่างไร คำตอบคืออยู่ในกระบวนการปฏิบัติที่ดำเนินการอยู่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่หยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากคำสั่งออกจากราชการ
เมื่อถามย้ำว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ท่านน่าจะพิจารณาเองได้
รรท.ผบ.ตร. กล่าวยืนยันในตอนท้ายว่าไม่หนักใจในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะการลงนามคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ให้จนถึงที่สุดให้ดี จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงในอนาคต