ถือเป็นอีกหนึ่ง “เทคโนโลยีแห่งยุค” แขนงหนึ่ง ซึ่งถ้าเปรียบไปก็เสมือนหนึ่ง “อวัยวะสมอง” ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ เลยทีเดียว

นั่นคือ “สารกึ่งตัวนำ” หรือ “เซมิคอนดักเตอร์” หรืออีกชื่อหนึ่งซึ่งเรียกกันจนฮิตติดปากว่า “ชิป” ที่ใครๆ กำลังกล่าวขวัญถึงแทบจะถ้วนทั่ว

อันรวมไปถึงบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งชาติมหาอำนาจพี่เบิ้ม รวมไปถึงประเทศทั้งหลายใหญ่น้อย

ชนิดที่กล่าวได้ว่า หากผู้นำประเทศใดไม่กล่าวถึงนโยบายในการประดิษฐ์ ผลิต และพัฒนา อุปกรณ์ “ชิป” ที่ว่านี้แล้วหล่ะก็ คงจะถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ คือ ถูกตำหนิติเตียนกันเป็นแน่

อย่าง “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา” เป็นต้น ที่ถึงขนาดตรารัฐบัญญัติ หรือเป็นกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว พร้อมกับทุ่มงบประมาณเพื่อการนี้จำนวนมากถึง 5.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 1.94 ล้านล้านบาท) เพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมชิปในสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพชิป ควบคู่ไปวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอันที่จะต่อกรกับประเทศจีน ชาติคู่แข่ง ที่พัฒนายกระดับความสามารถของตนด้านนี้ขึ้นมา จนยืนอยู่แถวหน้าของโลกไปแล้วประเทศหนึ่ง

ว่ากันถึงประเทศที่ถูกยกให้เป็นหมายเลขหนึ่งด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ณ ชั่วโมงนี้ ก็คือ “ไต้หวัน” ซึ่งได้กลายเป็นมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ หมายมั่นปั้นมือที่ประดิษฐ์ ผลิต และพัฒนาชิป จากประเทศของตน ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียม หรืออย่างน้อยก็ให้ใกล้เคียงกับ “ชิปสัญชาติไต้หวัน”

ไม่ว่าจะเป็น “เกาหลีใต้” หนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ระดับชื่อดังของโลก ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ แบรนด์ดัง ที่คนไทยรู้จัก และนิยมใช้กันยี่ห้อหนึ่ง นั่นคือ ซัมซุง ก็ประกาศเดินหน้าที่ผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์อย่างเต็มสูบ เพื่อประชันประสิทธิภาพกับเจ้าตลาดเบอร์ใหญ่

บริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ในเกาหลีใต้ (Photo : AFP)

โดยประธานาธิบดียุน ซุกยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเลยทีเดียว พร้อมกับทุ่มงบประมาณเพื่อการนี้โดยเฉพาะด้วยเม็ดเงินมหาศาล

ตามแถลงการณ์ของประธานาธิบดียุน ซุกยอล ระบุว่า ทางการเกาหลีใต้จะทุ่มงบประมาณมากถึง 29 ล้านล้านวอน หรือ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยเกือบ 7 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ งบประมาณข้างต้น นอกจากเพื่อการสนับสนุนพัฒนาชิปสัญชาติเกาหลีใต้แล้ว ก็ยังใช้เพื่อจัดการด้านภาษี โดยทางรัฐบาลกรุงโซล จะใช้มาตรการจูงใจทางภาษี ให้แก่บริษัทที่ร่วมโครงการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์โครงการนี้ด้วย

โดยทางการเกาหลีใต้ จะจัดสรรงบประมาณข้างต้น มาใช้ในการมาตรการภาษีดังกล่าว จำนวนมากถึง 17 ล้านล้านวอน จากจำนวนงบประมาณพัฒนาอุตสาหกรรมชิปทั้งสิ้น 29 ล้านล้านวอนตามที่กล่าวแล้วข้างต้น หรือคิดเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ราวๆ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณกว่า 4.57 แสนล้านบาท) ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวสูงกว่าที่นายชอย ซังม็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ เคยเสนอก่อนหน้านั้นถึง 2 เท่า

ผลจากแถลงการณ์ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาชิปข้างต้น ก็ทำให้หุ้นของบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ เช่น ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และเอสเคไฮนิกซ์ เป็นต้น ราคามูลค่าปรับตัวขึ้นถึงร้อยละ 1 โดยทันที

บริษัท เอสเคไฮนิกซ์ ในเกาหลีใต้ (Photo : AFP)

ตามมาด้วยประเทศจีน ที่ปรากฏว่า รัฐบาลปักกิ่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศจัดตั้งกองทุนเพื่อผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ในประเทศ มูลค่ามากถึง 3.44 แสนล้านหยวน หรือราว 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท) สำหรับ การประดิษฐ์ ผลิต และพัฒนาชิปสัญชาติจีน หรือ “เมด อิน ไชน่า” ซึ่งนอกจากจะทำให้จีนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องชิป แบบไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกกีดกันด้วยมาตรการต่างๆ สารพัด จากเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ แล้ว จีนก็มีความมุ่งมั่นที่จะนำชิปที่เป็น “เมด อิน ไชน่า” บุกตีตลาดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

โดยกองทุนที่จะได้รับเงินงบประมาณจำนวนข้างต้นไปพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของจีนในอีกระยะหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติระยะที่ 3” หรือมีชื่อย่อ และเรียกขานกันจนติดปากในจีนว่า “บิ๊ก ฟันด์ เธิร์ด (Big Fund III)” ซึ่งจะมี “กระทรวงการคลังของจีน” เป็นผู้ถือหุ้นลงทุนรายใหญ่ที่สุด สำหรับการขับเคลื่อนโครงการที่สามารถกล่าวได้ว่า เป็นอีกหนึ่ง “อภิมหาโครงการ” หรือ “เมกะโปรเจ็กต์” ของจีนเลยทีเดียว ซึ่งการพัฒนาชิปในจีนนั้น เริ่มมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนนับแสนล้านหยวน ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางการจีนได้ระดมเม็ดเงินจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจาก ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของจีน ตลอดจนธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ รวมไปจนถึงรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง แบบทุ่มกันสุดตัว เพื่อการพัฒนาชิปของจีนให้เป็นไปตามความมุ่งหวัง

โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป แห่งหนึ่งในจีน (Photo : AFP)

นอกจากบรรดาชาติพี่เบิ้มดังกล่าว แม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา ปรากฏว่า “มาเลเซีย” ชาติบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทย ก็ได้กระโจนขึ้นสู่เวทีสัประยุทธ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป กับเขาด้วย

โดยมีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้ประกาศทุ่มงบประมาณจำนวนมากถึง 5 แสนล้านริงกิต หรือราว 1.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.94 ล้านล้านบาท) เพื่อลงทุนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมกันนี้ เม็ดเงินงบประมาณดังกล่าว ก็ยังจะนำไปใช้เพื่อการฝึกอบรมพัฒนาทักษะของวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ หรือบุคลากรด้านชิป จำนวนราว 6 หมื่นคน เพื่อรองรับในการลงทุนและพัฒนาด้านชิปนี้ด้วย

ผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ของยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งผลิตในประเทศมาเลเซีย (Photo : AFP)

ก็ต้องถือว่า การประดิษฐ์ ผลิต และพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปนี้ ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ระหว่างขั้วค่ายประเทศต่างๆ นับจากนี้