สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
"ถ้าเป็นพระพิมพ์ยืนต้องยกให้พระร่วงหลังลายผ้า แต่ถ้า พระพิมพ์นั่งล่ะก็ต้องเป็นพระหูยาน ลพบุรี" เป็นคำฮิตติดเป็นคอนเทนต์ในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วประเทศและค่อนข้างคุ้นหูกับคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลยเกี่ยวกับสองสุดยอดในพระชุดเบญจภาคีประเภทเนื้อชิน เรียกได้ว่าเป็นพระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัด ที่เป็นที่แสวงหากันอย่างมาก ณ ปัจจุบัน
พระหูยาน ลพบุรี มีการขุดค้นพบที่ พระหูยานกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นหลัก จึงนิยมเรียกกัน ติดปากว่า "พระหูยาน ลพบุรี" นอกจากนี้ ยังมีปรากฏที่กรุอื่นๆ อีกเช่น กรุวัดอินทาราม กรุวัดปืน กรุวัดราษฎร์บูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา พระหูยานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พระหูยานกรุวัดค้างคาว จ.เพชรบุรี และพระหูยานเมืองสรรค์ เป็นต้น พระหูยาน ลพบุรี มีทั้งหมด 3 พิมพ์ คือ พระหูยาน พิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงจาก ฐานถึงยอดสุดประมาณ 5.5 ซ.ม. พระหูยาน พิมพ์กลาง และพระหูยาน พิมพ์เล็ก ซึ่งจะมีขนาดลดหลั่นกันลงมา
พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีการแตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2450 เราเรียกว่า "พระกรุเก่า" ผิวจะปลอดจากคราบผิวปรอทขาวโพลน มีขุมสนิมกัดกินลึกในเนื้อ มีรอยระเบิดแตกปริ ต่อมาได้มีการขุดค้นอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งปี พ.ศ.2508 ก็แตกกรุออกมาอีกเป็น จำนวนมากที่บริเวณพระเจดีย์องค์เล็กหน้าพระปรางค์ จึงให้ชื่อว่า "พระกรุใหม่"
นอกจากนี้ วงการพระเครื่องยังได้กำหนดลักษณะหรือศิลปะของพระหูยาน ลพบุรี แยกไว้เป็น 2 แบบ คือ พระหูยานหน้ายักษ์ และ พระหูยานหน้ามงคล สำหรับพิมพ์ด้านหลังของ พระหูยาน ลพบุรี จะมีเอกลักษณ์ เหมือนกันหมดทุกพิมพ์ คือ เป็นลายผ้ากระสอบที่ความถี่-หยาบเหมือนกันทุกองค์
แนวทางในการพิจารณาจุดชี้ตำหนิและจุดสังเกตพระหูยาน พิมพ์ใหญ่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีดังต่อไปนี้
- พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนกลีบบัวเล็บช้าง แบบชั้นเดียว และสองชั้น (บัวคว่ำ-บัวหงาย)
- พระเกศเป็นรูปบัวตูม ขมวดเป็นสองเส้นเฉียงขึ้น
- เส้นเกศาไม่ชนกันกับเส้นกระจัง
- พระพักตร์คว่ำแสดงถึงญาณอันแก่กล้า และมีลักษณะเคร่งเครียดอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะขอม
- พระกรรณยาวจดพระอังสา วงการพระเครื่องจึงขนานนามว่า "พระหูยาน"
- กึ่งกลางระหว่างผ้าสังฆาฏิปรากฏเส้นแซม
- ซอกพระพาหาด้านซ้ายขององค์พระ มีเนื้อหนาเป็นปื้นแล้วค่อยๆ ลาดลงมาเรื่อยๆ
- พระปรัศว์ (สีข้าง) ด้านขวาขององค์พระ มีเนื้อเกินเป็นปื้น
สำหรับทางด้านพุทธคุณ พระหูยาน ลพบุรี ไม่ว่าจะกรุเก่า กรุใหม่ หรือกรุใดๆ ก็ล้วนเป็นเลิศด้วย พุทธคุณ ทั้งด้านคงกระพันชาตรีตามแบบ ฉบับของขอม และเมตตามหานิยม สมคำยกย่องจริงๆ ครับผม