“กมธ.นิรโทษกรรม” ไร้ข้อสรุปม.112 ชงอนุกมธ.ฯ พิจารณาอีกรอบ “ยุทธพร” เตรียมถกกรอบคำนิยามการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง 5 มิ.ย.นี้

วันที่ 30 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาฯ ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ซึ่งนัดพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรรม โดยกำหนดให้ลงมติในประเด็นคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่ได้นิรโทษกรรมและนิยามของคำว่าแรงจูงใจทางการเมือง โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณา ร่วม 3 ชั่วโมง แต่ไม่มีข้อสรุปในประเด็นที่กำหนดไว้ในวาระการประชุม

ทั้งนี้นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า กมธ.ยังไม่มีข้อสรุปใด และให้ อนุกรรมการฯ นำความเห็นกมธ.ที่หารือไปปรับปรุงก่อนนำเสนอมายังกมธ.ใน วันที่ 6 มิ.ย. อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อยุติ การหารือของกมธ.ยังไปไม่ถึงประเด็นของการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 สำหรับวาระพิจารณากมธ.สัปดาห์หน้าจะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ  นิยามของคำว่า “แรงจูงใจทางการเมือง" การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบคณะกรรมการ มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ คดี ฐานความผิด หรือ การกระท าที่จะได้รับการนิรโทษกรรม กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ อาทิ การล้างมลทิน การคืนสิทธิ และการยอมรับผิดและการให้อภัย

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย ประธานอนุกมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เปิดเผยว่า การประชุมได้พิจารณารายงานของอนุฯ และยังมีความเห็นให้ไปปรับปรุง ในส่วนของกรรมการกลั่นกรองคดี ในองค์ประกอบ เพราะอนุกมธ.ฯ เสนอให้มีกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีตำแหน่งในสภา เช่น ประธานสภา เป็นประธาน, ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธาน แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มสัดส่วนของฝ่ายบริหารด้วย เพราะอาจเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ ทั้งนี้เดิมอนุกมธ.ฯ เสนอให้มีนายกฯ ด้วย แต่ได้ปรับแก้ไขไป รวมถึงกรรมการส่วนของศาลยุติธรรม ที่ถูกทักท้วงว่าไม่ควรมีเพราะอาจเกิดความขัดแย้งได้

“สำหรับคำนิยามนั้นยังมีประเด็นให้ปรับปรุงเล็กน้อย โดยได้วางกรอบของหลักการคือ เป็นการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยรายละเอียด อนุกมธ.จะหารือกันในวันที่ 5 มิ.ย. ก่อนจะเสนอให้กมธ.ชุดใหญ่พิจารณาวันที่ 6 มิ.ย.”นายยุทธพร กล่าว