เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ร่วมชม การดำเนินกลยุทธ์ ด้วยกระสุนจริงในการปฏิบัติการร่วม กองทัพอากาศ และ กองทัพบก ที่สนามฝึกทางยุทธวิธี กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดสุโขทัย เป็นการบูรณาการฝึกร่วม ระหว่างเหล่าทัพ โดยใช้การฝึกตามวงรอบประจำปีของหน่วยระดับกองพัน ของกองพลทหารม้าที่ 1 และการทดสอบการใช้กำลังของกองทัพอากาศ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณการฝึกเพิ่มเติม จากเดิม
     
การปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการดำเนินกลยุทธ์ของกำลังภาคพื้น ร่วมกับการปฏิบัติการของกำลังทางอากาศ มีการดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฝ พ.ย. 2566 เริ่มจากการประชุมหารือและตรวจภูมิประเทศ การแสวงข้อตกลงใจทางทหารร่วมกัน การฝึกแลกเปลี่ยนและการฝึกภาคสนาม ตามลำดับ 

โดย กำลังทางบก   มี รถถังเบา แบบ 32 หรือ Stingray จำนวน 30 คัน, รถสายพานลำเลียงพล  M113 จำนวน 16 คัน,  รถถังเบา Scorpion. ปืนใหญ่ 105 มม. 6 กระบอก, เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 120 มม. 6 กระบอก และกำลังพล 600 คน

กำลังทางอากาศ  มี อากาศยานไร้คนขับ DA-42 จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องบิน F-16  จากกองบิน4 นครสวรรค์ จำนวน 4 เครื่อง, เครื่องบิน T-50 Th จำนวน 3 เครื่อง, เฮลิคอปเตอร์ แบบ EC-725 จำนวน 2 เครื่อง, ชุดผู้ควบคุมอากาศยานหน้า และชุดควบคุมการรบ 20 คน


  
โดยมีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง สร้างความตระหนักรู้ในสถานการณ์ร่วมกัน โดยกองบัญชาการกองทัพไทยได้สนับสนุนระบบเชื่อมต่อข้อมูลการสนับสนุนทางอากาศ RPASS (RTARF Portable Air Support System) แสดงข้อมูลเป้าหมายและคำร้องขอของกองกำลังภาคพื้นบนแผนที่ดิจิตัลร่วมด้วย

โดยใช้ สถานการณ์ในการฝึก  ระบุถึงประเทศแดง สั่งกวาดล้างชนกลุ่มน้อยและกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ด้านตรงข้ามของประเทศน้ำเงิน และไล่ติดตามรุกล้ำเข้ามาภายในประเทศน้ำเงิน

กองกำลังนเรศวรได้ปฎิบัติตามแผนเผชิญเหตุใช้กองร้อย เตรียมพร้อมของทางกองกำลังผลักดันกำลังของประเทศแดง แต่ไม่สามารถผลักดันได้ เนื่องจากข้าศึกมีการเพิ่มเติมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ 

ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 จึงได้สั่งการให้กองพันที่ 1 จัดกองกำลังทหารม้าเฉพาะกิจปฎิบัติตามแผนประเชิญเหตุและเคลื่อนย้ายกำลังตามแผนประเชิญเหตุ โดยกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ

หลังชมการปฏิบัติรบร่วม  นายสุทิน ให้สัมภาษณ์ ว่า เป็นการฝึกสถานการณ์จำลองที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากที่สุด ซึ่งตนพอใจกับการฝึกในครั้งนี้ และมองว่าเหล่าทัพมีศักยภาพอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่พบข้อผิดพลาด เพราะมีประสิทธิภาพสูง เป็นที่น่าพอใจ 

ส่วนที่มีความกังวลด้านการสื่อสารระหว่างภาคพื้นกับกำลังทางอากาศนั้น ยังไม่พบข้อผิดพลาด แต่ยอมรับว่าในอดีตเป็นจุดอ่อน และได้นำมาปรับและแก้ไขข้อผิดพลาด 

ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีในการรบ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับสังคม แต่เชื่อว่าสังคมก็เรียนรู้ และหลายประเทศก็พัฒนากองทัพและเห็นว่ามีเหตุสงครามเกิดขึ้น ก็ต้องพิจารณาว่าประเทศเราจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องอธิบาย ซึ่งวันนี้กองทัพก็อธิบายให้สังคมเข้าใจ ดังนั้นเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์คงได้รับความเห็นชอบจากประชาชนมากขึ้น

“การฝึกในวันนี้ ผมก็อยากให้เต็ม 10 แต่ต้องผลการประเมินหลังการฝึก แต่ที่เห็น ในวันนี้ประสบความสำเร็จสูง แต่การพูดเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เป็นการเอาใจกองทัพ ผมชื่นชมจริงๆ” นายสุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าในการชมฝึกกำลังทางอากาศในวันนี้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดหาเครื่องบินรบ ของกองทัพหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า หากดูจากในวันนี้ก็ยังสามารถทำงานได้ แต่ถ้าใช้งานมากกว่านี้ และสถานการณ์เข้มข้นกว่านี้ ต่อให้เก่งขนาดไหน การประเมินของนักบิน ก็จะมีเรื่องอายุการใช้งาน 

​​​​​​​

รวมถึง ยุทโธปกรณ์ประเภทอื่น เช่น รถถัง บางรุ่นที่มีอายุใช้งานมานานตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม  แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการอัพเกรดปรับปรุง ก็ยังใช้งานกันอยู่ 

ส่วนความเป็นไปได้ที่จะจัดหาใหม่นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ตนมองว่า ไม่ได้เป็นการซื้อเพิ่ม แต่เป็นการซื้อทดแทนของเก่าที่หมดอายุ โดยดูเหตุผลและความจำเป็น

ในส่วนของ ทอ. ที่เครื่องบินจะทยอยปลดประจำการ จนเลยไปถึงปี 2570 จึงมีความจำเป็นต้องซื้อ และพิจารณาซื้อทดแทน ซึ่งเรื่องนี้สังคมมีคำตอบ ตนมองว่า เราต้องทำให้กองทัพแข็งแกร่ง ไม่มีเหตุอย่างอื่น ที่จะทำมห้กองทัพอ่อนแอ มีเหตุผลที่ต้องซื้อ เมื่อคนอื่นแข็งแกร่งเราก็ต้องพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะต้องดูคู่แข็งด้วย จะทำในสิ่งที่เราพอใจอย่างเดียวไม่ได้

สำหรับการประเมินท่าทีของฝ่ายค้านหรือก้าวไกลในการจัดหายุทโธปกรณ์นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ตนมองว่าว่าลึกๆเขาเข้าใจ แต่ในทางการเมืองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร แต่ภาพรวมก็เห็นประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเขาก็ต้องจำนนด้วยข้อเท็จจริง แล้วตนเชื่อว่าเขาจะโหวตให้ เช่นครั้งที่แล้วเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องมายา ที่เขาอยากให้กองทัพเรือได้เดี๋ยวฟริเกต แสดงว่าเขาเห็นข้อเท็จจริงจึงสนับสนุน

ส่วนเหตุการณ์ที่ กมธ.งบประมาณฯ ปี 2567 ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายคว่ำงบโครงการจัดหาเรือฟริเกต นายสุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของการวางไทม์มิ่ง งบประมาณ แต่สุดท้ายก็ให้เพื่อจัดลำดับงบประมาณมาให้โป่งพอง ไม่ใช่ให้ปีเดียว หลายโครงการ

เมื่อถามย้ำถึงโครงการจัดหาเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ ในปีงบประมาณ 2568 จะอนุมัติหรือไม่ นายสุทิน กล่าวยืนยันว่า “ให้”


#ทัพอากาศ #ทัพบก #ซ้อมรบ #ข่าววันนี้่