นายเอกวรัญญู  อัมระปาล   โฆษกของกรุงเทพมหานคร  เปิดเผยถึงที่มาของฟอนต์ที่ใช้ในสติกเกอร์ข้อความใหม่ที่ปิดบนแนวคานของรางรถไฟฟ้า กลางแยกปทุมวัน “กรุงเทพฯ – Bangkok” ว่าเป็นฟอนต์ใหม่ที่ กทม.จัดทำขึ้นภายใต้ CI (Corporate  Identity) ของกรุงเทพมหานคร  ชื่อว่าฟอนต์ “เสาชิงช้า” มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีมาดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ  

 

กทม.ได้มีการออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้ามาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566  โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ทั้ง 23 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงการใช้สีหลักคือสีเขียวมรกตที่นำมาใช้บ่อยที่สุด และสีรองอีกหลากหลายสีที่ใช้ในการออกแบบตกแต่ง การวางโลโก้  กราฟิก การออกแบบภาพ ฯลฯ ซึ่งได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้อัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชิ้นงาน  โดยประชาชนจะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น ป้าย  สื่อวิดีทัศน์ สิ่งพิมพ์  สื่อออนไลน์  รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วย

 

สำหรับผู้สนใจจะนำฟอนต์เสาชิงช้าไปใช้ในการออกแบบข้อความต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ www.pr-bangkok.com

​​​​​​​