เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาได้มอบหมายนักโบราณคดีปฏิบัติการ โดยมีนายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา พร้อมนายวิธาน ศรีขจรวุฒิศักดิ์ และเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ คูเมืองด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ ตัด ถ.พลล้าน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เดิมเป็นอาคารสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (สคพ.11 นม.) ปัจจุบันได้รื้อถอนย้ายที่ตั้ง สคพ.11 นม. ไปอยู่ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง
ในขณะคนงานกำลังขุดดินตามแนวกำแพงเมืองเก่า ระดับความลึก 180 ซ.ม. พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 2 โครง ไม่ทราบเพศ โครงแรกลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกและห่างจากโครงแรกประมาณ 2.5 เมตร โครงที่สองลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว เศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ ตามข้อมูลวิชาการโบราณคดีกำหนดเป็นตัวแทนของกิจกรรมหรือวัฒนธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการโบราณคดีและเตรียมกั้นแนวเขตเป็นพื้นที่หวงห้าม
นายวรรณพงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 10 เปิดเผยว่า งานโบราณคดีครั้งนี้เป็นการขุดตัวทางโบราณคดี เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ ทน.นครราชสีมา มีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางโบราณคดีเนื่องจากทางกายภาพพื้นที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์แนวกำแพงเมืองนครราชสีมาโบราณ สันนิษฐานถูกก่อสร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราช หรือในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หลังจากดำเนินการขุดตามหลักวิชาการ เบื้องต้นความลึก 130 ซม.ไม่เจอกำแพงเมืองแต่อย่างใด รวมทั้งร่องรอยหลักฐานในสมัยอยุธยา แต่เมื่อระดับความลึก 180 ซม. ได้เจอหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองนครราชสีมา เป็นหลักฐานช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือสมัยเหล็ก ช่วงอายุประมาณ 2,500-1,500 ปี มาแล้ว
ข้อมูลที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงเมืองนครราชสีมา ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการนำเสนออายุของเมืองนครราชสีมาเพียง 555 ปี หลักฐานในวันนี้กลายเป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่ของผู้คนโบราณไม่น้อยกว่า 1,500 -2,500 ปี ในพื้นที่บริเวณนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการตั้งเมืองสมัยอยุธยา มีการเลือกพื้นที่ตั้งเมืองคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นชุมชนโบราณดั้งเดิม มีการปรากฏหลักฐานต่อเนื่องเรื่อยมา ยังมีความเชื่อมโยงไปยังชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นบริเวณปราสาทพนมวัน พื้นที่อำเภอโนนสูง โนนไทย มีชุมชนโบราณกระจายตัวอยู่จำนวนมาก
ขั้นตอนต่อจากนี้มีการขุดค้นตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงบริบทของหลักฐานเพื่ออธิบายกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตให้ชัดเจนมากขึ้นและรายงานให้พร้อมรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อประสานงานร่วมกับผู้บริหาร ทน.นครราชสีมา เตรียมวางแผนการดำเนินการกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกค้นพบต่อไป