"คลัง" รับโจทย์แก้ปัญหาเดือดร้อนผลพวงปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ถก "สรรพสามิต" พรุ่งนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.), เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ 3 สายพันธุ์, สหภาพแรงงานยาสูบ และผู้ค้าปลีก ที่เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เมื่อปี 2560 จนกระทบต่อโครงสร้างราคาจำหน่าย และเกิดช่องว่างระหว่างราคาบุหรี่ต่างประเทศ กับบุหรี่ในประเทศ ตลอดจนปัญหาลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน แม้หน่วยงานกำกับดูแลกวดขันอย่างเข้มข้น โดยปัญหาเหล่านี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอย่างมาก

โดยในส่วนของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบนั้น กระทรวงการคลัง พร้อมรับโจทย์เพื่อมาหารือกันให้รอบคอบในทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่สามารถสรุปได้โดยง่าย โดยโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ใช้ในปัจจุบัน มี 2 อัตรา คือ การจัดเก็บตามมูลค่า โดยราคาขายปลีกที่ต่ำกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 25% ส่วนราคาขายปลีกที่มากกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 42% ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณอีกที่ 1.25 บาท/มวน นอกจากนี้ ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีที่ต้องตัดจ่ายให้กับองค์กรต่างๆเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนพัฒนากีฬา, กองทุนคนชรา เป็นต้น รวมทั้งยังมีภาษีท้องถิ่น ที่ต้องหารือกันถึงโครงสร้างทั้งหมดว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

สำหรับการหารือครั้งนี้ มีการเสนอความคิดเห็นว่าควรจะมีการลดราคาขายปลีกลงให้ต่ำกว่า 72 บาท ตรงนี้มองว่ามีทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดีคือ เพื่อให้แรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนน้อยลง แต่ข้อเสียคือ เมื่อราคาถูกลงการบริโภคบุหรี่ก็อาจจะเยอะขึ้น ดังนั้นจึงต้องมาดูผลกระทบต่อสังคมด้วย จึงอยากขอเวลาในการทำการบ้าน เพื่อนัดหมายมาคุยกันใหม่ ให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ค.) จะไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับกรมสรรพสามิต ซึ่งจะใช้โอกาสนี้หารือกับผู้บริหารของกรมสรรพสามิตด้วย

ขณะเดียวกันต้องหารือเรื่องการแก้ไขกฎหมายของ ยสท.เพื่อเพิ่มอำนาจให้ ยสท.สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษียาสูบที่ผ่านมา ยสท.ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังนั้นต้องพิจารณาการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงให้สามารถรับซื้อใบยาสูบได้มากขึ้นด้วย

"ปัจจุบัน ยสท. ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่หากสามารถปลดล็อกกฎหมายส่วนนี้ ให้สามารถรับจ้างผลิตเพื่อขายในประเทศได้อย่างมีคุณภาพที่เหมาะสม ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยดูดซับใบยาในตลาด และอาจทำให้สามารถเพิ่มโควตารับซื้อใบยาเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งได้มอบให้ส่วนงานไปศึกษาเรื่องการนำใบยาสูบของเกษตรมาผลิตเป็นมวนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อการส่งออก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการขยายตลาดในต่างประเทศ เพราะมีดีมานต์มาก ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้เลย ไม่ต้องแก้กฎหมาย" รมช.คลังกล่าว

สำหรับข้อเรียกร้องของผู้ปลูกใบยาสูบในเรื่องเงินค่าชดเชยปัจจัยการผลิตของปี 2567 ที่ขอไว้ 80 ล้านบาทนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมรับเป็นโจทย์ไปพูดคุยว่าจะใช้งบกลาง หรือใช้กลไกส่วนใดในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษี

#ข่าววันนี้ #ภาษีบุหรี่ #สรรพสามิต #บุหรี่เถื่อน