ดร.ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ 321 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์และขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บวท. ซึ่งเป็นด่านแรกในการติดต่อกับนักบิน เมื่อทราบเหตุ ก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทันที โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ให้เครื่องบินลำดังกล่าวได้เข้ามาลงจอดที่สนามสุวรรณภูมิโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งได้ประสานแจ้งเหตุกับหน่วยงานภาคพื้นประจำท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้เตรียมพร้อมและเข้าทำการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย หรือ Search and Rescue (SAR) ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ ตลอด 24ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการให้บริการจราจรทางอากาศ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหน่วยงานด้านการบินของประเทศ มีความพร้อมทั้งให้บริการในทุก ๆ ด้าน ทั้งในกรณีปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีอากาศยานประสบภัย มีการบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน จนได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานด้านการบินและรัฐบาลของประเทศสิงคโปร์  แสดงให้เห็นความพร้อมที่จะไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยด้วย”

นอกจากนั้นวิทยุการบินฯ ยังเร่งพัฒนาการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ รองรับการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินอย่างยั่งยืนในอนาคต ทั้งการขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบิน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห้วงอากาศและเส้นทางบิน ความคล่องตัว กระบวนการ เทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันกับหน่วยงงานการบิน เพื่อร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ตามนโยบาย ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล เน้นย้ำมาตลอด ให้หน่วยงานในสังกัด และ บวท. เพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อรองรับ และอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่บินเข้ามาในเขตน่านฟ้าไทย มีความคล่องตัว สะดวกสบาย และมีความปลอดภัยสูงสุด