นับเป็น “อากาศยานแห่งยุค” ของแท้

สำหรับ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ที่ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึง

โดย “โดรน” ที่ว่า ก็ถูกใช้งานทั้งในด้านพลเรือน และการทหาร

ในด้านพลเรือน ก็มีทั้งเพื่อการตรวจการณ์ บันทึกภาพ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ในมุมสูง รวมถึงการลำเลียงขนส่งสิ่งของต่างๆ สารพัด กระทั่งการโดยสารของมนุษย์เรา ในโดรนที่มีชื่อเรียกว่า “โดรนแท็กซี่”

ส่วนทางด้านการทหารนั้น ก็ไล่ไปตั้งแต่การตรวจการณ์ในมุมสูง ราวกับหน่วยลาดตระเวนตรวจการณ์ระยะไกลของกำลังพลทหารหาญตัวเป็นๆ กันเลยทีเดียว และการใช้งานด้านการลำเลียงสิ่งของต่างๆ เพื่อการส่งกำลังบำรุง ราวกับเป็นเหล่าทัพของหน่วยช่วยรบทั้งหลาย รวมไปถึงการใช้เป็นอาวุธเพื่อปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ถล่มเป้าหมายที่ต้องการ

ป้ายแสดงกองทัพโดรนของประเทศแห่งหนึ่ง (Photo : AFP)

ล่าสุด โดรนทางการทหาร ก็ได้ถูกปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็น “รั้วทองแดง กำแพงเหล็ก” ราวประหนึ่งกำลังพลหน่วยทหารหาญที่ทำหน้าที่รักษาการตามแนวชายแดน

เรียก “โดรน” ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวว่า “กำแพงโดรน (Drone wall)”

โดยกำแพงโดรนนี้ เป็นคำเรียกขานของเหล่าชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่มีความประสงค์ที่จะสร้าง “ป้อมปราการ” ในรูปแบบที่ใช้ “โดรน” เป็นอุปกรณ์สำคัญ แทนที่จะเป็นป้อมปราการที่ทำจากกระสอบทราย อิฐ หิน หรือปูนคอนกรีต ในรูปแบบบังเกอร์ ของป้อมปราการทางการทหารเหมือนสมัยเมื่อก่อน

ทั้งนี้ ข้อดีของป้อมปราการโดยใช้ “โดรน” นั้น ก็สามารถเคลื่อนที่ เหินเวหา ไปในสถานที่ต่างๆ ได้ และสามารถตรวจการณ์จากจุดมุมสูงได้ ซึ่งทำให้เห็นพื้นที่ต่างๆ ได้ดีขึ้น เห็นการเคลื่อนไหวของข้าศึก ฝ่ายตรงข้าม ได้ดีขึ้น แตกต่างจากป้อมปราการที่กับพื้นดินเบื้องล่างๆ ที่อาจไม่สามารถตรวจการณ์ได้ในบางพื้นที่ เพราะถูกบดบังทัศนวิสัย เนื่องจากอยู่ระนาบเดียวกัน ต้องใช้การตรวจการณ์จากจุดมุมสูงเท่านั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ “กำแพงโดรน” ก็สามารถทำหน้าที่อุปกรณ์สื่อสารติดต่อกับหน่วยกำลังพลอื่นๆ โดยอาจจะใช้การติดต่อผ่านคลื่นโทรคมนาคม รวมไปถึงระบบดาวเทียม สามารถประสานงานติดต่อในการปฏิบัติการต่างๆ ทั้งในด้านการป้องกัน และการต่อสู้

โดยกำแพงโดรน สามารถส่งสัญญาณไปยังหน่วยกำลังพลที่รับผิดชอบระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประจำการในกองทัพ ยกตัวอย่างเช่น “ไอรอนโดม” เป็นต้น ให้ช่วยยิงสกัด “ขีปนาวุธ” หรือ “โดรนติดอาวุธ” จากฝ่ายตรงข้ามที่ล้ำน่านฟ้าเข้ามา ก่อนที่ขีปนาวุธ หรือโดรนติดอาวุธเหล่านั้นจะโจมตีดินแดนของตน เป็นต้น

ใช่แต่เท่านั้น “กำแพงโดรน” ก็สามารถพลิกโฉมจากอุปกรณ์ป้องกัน กลายเป็นอาวุธโจมตีเป้าหมาย หากมีการปรับแต่ง ให้มีสมรรถนะเป็น “โดรนติดอาวุธ” ที่จู่โจมฝ่ายตรงข้ามคู่ปรปักษ์ได้อีกต่างหากด้วย

ทหารเตรียมนำโดรนขึ้นทะยานสู่ท้องฟ้า (Photo : AFP)

ด้วยสมรรถภาพของกำแพงโดรน ที่ทำได้หลายประการเช่นนี้ จึงทำให้หลายประเทศสมาชิกของนาโต หมายตา หมายใจ ที่จะนำกำแพงโดรน มาประจำการเหนือน่านฟ้าประเทศของตน

โดยประเทศสมาชิกนาโต ที่ต้องการผุดหน่วยกำแพงโดรนมาประจำการ ก็ได้แก่ โปแลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และเหล่าประเทศสมาชิกนาโตที่อยู่รอบๆ ทะเลบอลติกทั้งหลาย อันประกอบด้วย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย

ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า บรรดาชาติสมาชิกนาโต ที่ต้องการให้มีกำแพงโดรนมาประจำการเหนือน่านฟ้าประเทศของตนเหล่านี้ ล้วนมีพรมแดนติดกับ “ประเทศรัสเซีย” กันทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้กระทั่งโปแลนด์ และลิทัวเนีย ประเทศที่มีพรมแดนติดกับ “คาลินินกราด” อันเป็นดินแดนของรัสเซีย นอกแผ่นดินใหญ่ ที่เปรียบเสมือนเป็น “ไข่ดาว” ขนาบข้างระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย ต่างก็หมายปองที่จะได้มีกำแพงโดรน มาประจำการดุจเหล่าทหารหาญให้อุ่นใจ

จากการเปิดเผยของนางอักเน ไบโลตาอิเต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของลิทัวเนีย ระบุว่า กำแพงโดรนที่จะมาประจำการราวกับหน่วยกองทัพนั้น ก็มิใช่ว่าจะเป็นแบบประเทศใครประเทศมัน หรือต่างคนต่างมี แต่ทว่า จะเป็นการประสานสนธิกำลังของเหล่ากำแพงโดรนจากเหล่าชาติสมาชิกนาโตข้างต้นด้วยๆ คือ จะมีกำแพงโดรนประจำการเหนือน่านฟ้ามาตั้งแต่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศเหนือสุดบนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ล่องลงใต้มาถึงประเทศโปแลนด์กันเลยทีเดียว

โดยเหล่าฝูงกำแพงโดรนเหล่านี้ จะช่วยเป็นปราการป้องกันรักษาความมั่นคงให้แก่บรรดาประเทศของนาโตที่มีพรมแดนติดต่อกับรัสเซีย เป็นหมุดหมายหลัก หรือภารกิจสำคัญ

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของลิทัวเนีย ยังระบุด้วยว่า มิใช่ว่าโดรนที่จะมาทำหน้าที่เป็นกำแพงโดรนเหล่านี้จะเหมือนกับโดรนทั่วๆ ไป แต่ทว่า เป็นโดรนที่อุปกรณ์เทคโนโลยีอันสุดล้ำสมัยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจการณ์ และการติดต่อสื่อสาร โดยสามารถเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารกับระบบป้องกันภัยทางอากาศต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ไอรอนโดม เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง “ไอรอนโดม” ข้างต้นแล้ว ก็ถูกยกให้เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย และทรงประสิทธิภาพระบบหนึ่ง โดยมีผลงานจากการป้องกันภัยทางอากาศให้แก่อิสราเอล จากการถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธต่างๆ หรือแม้กระทั่งขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธโจมตีจากอิหร่านเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเครื่องการันตี

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนการผุดกำแพงโดรนข้างต้นของเหล่าชาติสมาชิกนาโตที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียนั้น อาจกล่าวได้ว่า สืบเนื่องมาจากผลการลงนามในแผนการร่วมมือป้องกันน่านฟ้าของยุโรปเบื้องต้นของนายโดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เมื่อช่วงต้นเดือนนี้

ทหารหน่วยโดรน กำลังบังคับควบคุมการบินโดรน จากสถานที่ลับแห่งหนึ่ง (Photo : AFP)

วัตถุประสงค์หลักของแผนการดังกล่าว รวมถึงการสถาปนากำแพงโดรนขึ้นมานั้น ก็เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากรัสเซีย โดยมีบทเรียนทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กองทัพรัสเซีย ถล่มยูเครนอย่างย่อยยับถึง ณ ชั่วโมงนี้ และสงครามฉนวนกาซา ที่อิสราเอลรอดพ้นจากถูกขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธโจมตี ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และด้วยหลายฝ่ายที่ร่วมมือกัน