วันที่ 28 พ.ค.2567 เวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ เป็นที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรี (สลค.) ว่า ต้องไปถามนายเศรษฐาว่าเจตนาในการตั้งเป็นไปเพื่ออะไร ถ้าเพื่อจุดประสงค์เฉพาะหน้าเพื่อมาช่วยเรื่องคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในระยะยาวในการดำเนินงานของรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดคิดว่าไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เห็นการที่รัฐบาลชุดนี้ดึงบุคลากรจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานของรัฐบาลชุดนี้

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่โซเชียลขุดเรื่องนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เคยทวีตถล่มนายวิษณุ ในรัฐบาลที่แล้ว แต่รัฐบาลนี้ก็ยังแต่งตั้งนายวิษณุขึ้นมา นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ตั้งขึ้นมาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นรัฐบาลตั้งคนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในเชิงจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเราชัดเจนว่าในมุมหนึ่งเราตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ที่นายกฯแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ  เป็นรัฐมนตรี แต่อีกมุมหนึ่งเราไม่เห็นด้วยกับวิธีการในการสว.เลือกใช้คือยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมสูง และช่องทางนี้อาจเปิดช่องให้สามารถเอาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาตีความประเด็นเรื่องจริยธรรม ไปในทางที่มิชอบได้

“แม้เราไม่เห็นด้วยกับการตั้งนายพิชิตมาเป็นรัฐมนตรี แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่จะเอาศาลรัฐธรรมนูญมาตีความเรื่องจริยธรรม ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุคคือนายกฯควรจะเลือกที่จะไม่ตั้ง นายพิชิต ตั้งแต่ต้น หรืออย่างน้อยควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแค่บางอนุมาตรานั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจคืออนุมาตราที่นายกฯ ถามคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ไม่ใช่เป็นอนุมาตราที่สว.ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย โดยทางอนุมาตราที่สว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เกี่ยวกับ 2 ประเด็นคือ มาตรฐานจริยธรรมและการที่ระบุว่ารัฐมนตรีต้องมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ และทางพรรคก้าวไกลเรากังวลกับวิธีการนี้เพราะเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่าจริยธรรมแปลว่าอะไร คำว่าสุจริตเป็นที่ประจักษ์แปลว่าอะไร และหลายฝ่ายมองว่าไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนเพียงพอ และอาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะได้ผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางกับทุกฝ่ายได้จริง ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้องค์กรอิสระสามารถนิยามได้ว่าจริยธรรม ความสุจริตหมายถึงอะไร และสามารถนำเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันและกันได้

“ถึงแม้เราจะเห็นด้วยถึงความไม่เหมาะสมในการตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี แต่เรามองว่าสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือนายเศรษฐาเลือกที่จะไม่ตั้งนายพิชิตตั้งแต่ต้น หรือหากจะมีการเรียกร้อง ควรจะเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ใช่ใช้กลไลของศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องจริยธรรม” นายพริษฐ์ กล่าว