ครม.รับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตั้งเป้าดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้าระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น จำนวน 1,000,000 คน ภายในปี 70

วันที่ 28 พ.ค.67 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้

1.มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดังนี้ 1) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลของ ศธ. ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ มท. รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานอื่น มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กต. พม. มท. ศธ. สธ. และ 2) พัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและการค้นหาให้มีประสิทธิภาพและแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติต่อไป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ มอบหมายให้คณะกรรมการระดับชาติ

2.มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม ดังนี้ 1) จัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มอบหมายให้คณะกรรมการระดับจังหวัด และ 2) ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการช่วยเหลือและส่งต่อสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี และการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานระดับพื้นที่อาจจะดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการแบบเบ็ดเสร็จระดับตำบล “ศูนย์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับตำบล” โดยให้อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลหรือเทศบาล มอบหมายให้ มท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. ศธ. สธ. และ กสศ.

3.มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง ดังนี้ 1) จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 2) ยกระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพสังคม และ 3) ส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ วิชาชีพของเด็กและเยาวชนในการทำงานจริงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาหรือเรียนรู้ในสังกัด ศธ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ดศ. มท. รง. หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรทางศาสนา หรือหน่วยงานอื่น ๆ

4.มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา ดังนี้ 1) ส่งเสริมหรือจูงใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป และ 2) สนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน มอบหมายให้ รง.พิจารณากำหนดกมาตรการที่เหมาะสม

“ประโยชน์ที่จะได้รับจาการดำเนินมาตรการ เกิดพื้นที่จังหวัดขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และจะคลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นต้นไป สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ จำนวน 100,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 50,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และจำนวน 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” นายคารม กล่าว