เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ครอบคลุม 20 จังหวัด มีลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 63.85 ล้านไร่  แต่มีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานอยู่เพียง 8.69 ล้านไร่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ หลายโครงการฯ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เท่าที่ควร ยังคงมีพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้อีกเกือบ 50 ล้านไร่ แนวคิดการใช้น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มมีการศึกษาตั้งแต่ปี 2503 โดย USAID (องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐของอเมริกา United States Agency for International Development) แต่เนื่องจากมีผลกระทบหลายด้าน โครงการฯ จึงได้หยุดชะงักไป ต่อมากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการ โขง-ชี-มูล เมื่อปี 2535 ด้วยการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมก่อสร้างฝายในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล แต่การพัฒนาทำได้เพียงก่อสร้างฝายในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเท่านั้น

ต่อมาในปี 2548 มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ได้เสนอแนวคิดในการผันน้ำโขงเข้ามาใช้โดยแรงโน้มถ่วงต่อรัฐบาลในขณะนั้น กรมชลประทาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งน้ำ จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอด พร้อมศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2560 มีพื้นที่ชลประทานรวม 33.5 ล้าน ไร่  ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด โดยแบ่งระยะการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ  โดยในการพัฒนาระยะที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหัวงานอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน  1 แถว และระบบส่งน้ำพื้นที่ชลประทาน 1.73 ล้านไร่  ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เฉพาะหัวงานแนวผันน้ำ) ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อปี 2563  ขณะนี้อยู่ในระหว่างทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับชี้แจง เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)

ในส่วนพื้นที่ชลประทานระยะที่ 1 พื้นที่ 1.73 ล้านไร่ อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยกรมชลประทาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งกระบวนการนับจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ชี้แจงและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ และ เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาในลำดับต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่

สำหรับประเด็นข้อกังวลต่างๆ  ที่ปรากฏในสื่อเกี่ยวกับพื้นที่เวนคืนและค่าชดเชยที่ดินจำนวน 2 ล้านไร่ มูลค่า 1 แสน ล้านบาท นั้น จากผลการศึกษาความเหมาะสมในปี 2560 พบว่า หากมีการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จเต็มศักยภาพ 33.5 ล้าน ไร่  ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน จะมีการสูญเสียที่ดินจากการก่อสร้างคลองชลประทานและถนนสองฝั่งคลอง รวมประมาณ 2 ล้านไร่  มีค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินประมาณ 1.17 แสนล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของการพัฒนา ระยะที่ 1 หัวงาน ที่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว การก่อสร้างอุโมงค์ 1 แถว จะมีราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 1,003 ราย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10,706 ไร่ มีค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินประมาณ 1,796 ล้านบาท   ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมให้ครบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในส่วนของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ดินเค็ม ระบบนิเวศ ที่ผ่านมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาครบถ้วนทั้งในเรื่องของผลกระทบและมาตรการลดผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลกระทบในด้านต่าง ๆ จะทราบผลที่ชัดเจน เมื่อดำเนินการศึกษาฯ แล้วเสร็จ

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล  โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 พื้นที่หัวงานจะตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ซี่งเป็นจุดแรกที่แม่น้ำเลยไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำโขงสูงสุดที่ระดับ +212 ม.รทก. ทำให้สามารถส่งน้ำผ่านอุโมงค์ผันน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วง ก่อนกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรกว่า 1.73  ล้านไร่  ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำภู  จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดชัยภูมิ  และจังหวัดนครราชสีมา โดยมีปริมาณน้ำที่สามารถผันได้ 1,894  ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินโครงการฯได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูแล้งและช่วยรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บรรเทาวิกฤตภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งน้ำไปได้ยาก ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา สร้างอาชีพด้านการเกษตรให้มั่นคง ช่วยลดอัตราการอพยพแรงงานภาคการเกษตรได้อีกด้วย