SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ใกล้เคียงปีก่อน จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเป็นหลัก โดยอุปสงค์ในประเทศของสหรัฐฯ ยังขยายตัวดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในระยะสั้นตามวัฏจักรภาคการผลิตและการส่งออกที่ฟื้นตัว รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับนโยบายการเงินโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3 รวมทั้งปี 2 ครั้ง 50 BPS ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. รวมทั้งปี 4 ครั้ง 100 BPS จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเร็วกว่าคาด สำหรับธนาคารกลางจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการการคลัง ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงท้ายปีตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางที่สูงขึ้นจากประมาณการเดิมของ BOJ
SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 (ไม่รวม Digital wallet) เหลือ 2.5% (เดิม 2.7%) แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกออกมาขยายตัวดีกว่าคาด โดยมีแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการขยายมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าภาพรวมองค์ประกอบเศรษฐกิจส่วนใหญ่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าจะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้แก่
1.การส่งออกขยายตัวจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ
2.ภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และส่วนหนึ่งจะถูกสินค้าจีนตีตลาดจากปัญหา Overcapacity ของภาคอุตสาหกรรมจีน
3.การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากที่เคยขยายตัวได้ดีใน 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากรายได้ฟื้นช้าทำให้ครัวเรือนเปราะบางสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
SCB EIC ประเมินว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงและอ่อนค่าเร็วช่วงต้นเดือน เม.ย. จากภาวะ Risk-off ของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน และตลาด Price-in การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงของ Fed ต่อมาเงินบาทกลับแข็งค่าเร็วหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด สำหรับในระยะสั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะทยอยแข็งค่าต่อได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากแรงหนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแนวโน้ม Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับ ณ สิ้นปีนี้มองเงินบาทจะแข็งค่าที่ราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
#ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ #SCBEIC #จีดีพี #ข่าววันนี้ #ส่งออก #กนง