Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.63 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 36.55-36.64 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังค่าเงินยูโร (EUR) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Memorial Day อย่างไรก็ดี สัญญาฟิวเจอร์สดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.32% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรป เช่น บอนด์ยีลด์ 10 ปี เยอรมนี จากความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ย่อตัวลงมาบ้าง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ก็ยังมีลักษณะ sideways เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.5-104.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้น เกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายเล็กน้อยและย่อลงสู่ระดับ 2,377 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำได้ โดย หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อ ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทหรือหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง แต่แรงขายก็อาจไม่มากนัก เพราะบรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่นกัน ทำให้โดยรวมเงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์
#ค่าเงินบาท #ข่าววันนี้ #ราคาทอง #พูนพานิชพิบูลย์