วันที่ 28 พ.ค.67 นายนพดล ผุดผ่อง เกษตรจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า นายคำพันธ์ กระจกศรี เป็นเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสําปะหลังในระบบน้ำหยด จนประสบผลสําเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับอําเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต ประจำปี 2567 และได้ถูกคัดเลือกส่งประกวดในระดับประเทศ ซึ่งมันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในหลายพื้นที่ เพราะในอนาคตคาดว่าความต้องการในการใช้มันสำปะหลังมากขึ้นมาผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนส่งผลให้เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจและต้องการปลูกมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และได้จำนวนผลผลิตไร่ในปริมาณที่สูงตามไปด้วย

โดย นายคำพันธ์ กระจกศรี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง บ้านหนองหงอก ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตสูงถึง 8 ตันต่อไร่ ด้วยการปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด เพราะใส่ใจในทุกขั้นตอนผลิต เริ่มจากการเตรียมดินที่ดี คือทำให้ดินมีความสมบูรณ์ก่อนปลูก บำรุงธาตุอาหารให้กับพืชได้อย่างถูกจุด ให้ปุ๋ยถูกสูตร ถูกที่ ถูกเวลา ถูกอัตรา ถูกวิธี การใช้ท่อนพันธุ์มันสะอาดคุณภาพดี และการวางระบบที่ดีตรงตามความต้องการของพืช  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูง ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง นายคำพันธ์ ฯได้ลงมือทำด้วยตนเองเป็นระยะเวลากว่า 39 ปี การคิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำมาใช้พัฒนาการเกษตรของตนเองในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ มีการศึกษาเรียนรู้และประดิษฐ์เครื่องมือด้วยตนเอง เพื่อหาแนวทางต่างๆ ที่จะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้จากปัญหาในการทำไร่มันสำปะหลัง จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหาด้านการผลิต คือ1.ผานยกร่องรถไถเดินตามแบบคู่ สามารถลดระยะเวลาทำงานจากเดิม 1 วัน ไถยกร่องได้ 5 ไร่ เป็น 1 วันไถยกร่องได้ 10 ไร่  2.ล้อตะขาบซิ่งเงินแสน มีการประดิษฐ์คิดค้นการตัดล้อตะขาบให้เล็กลง มีหน้ากว้าง 15 เซนติเมตร จากเดิม 28 เซนติเมตร ปรากฏว่าสามารถเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น ต้นมันสำปะหลังไม่เสียหายและดินไม่แน่น สามารถเข้าไถกลบปุ๋ยแปลงมันสำปะหลังได้สะดวกยิ่งขึ้น 3.การปลูกมันกันชน ใช้พันธุ์ห้วยบง 60 ใช้ปลูกรอบแปลงเพื่อเป็นกับดักไม่ให้โรคใบด่างในสำปะหลังเกิดการระบาดในแปลง ทั้งนี้ยังมีการปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้นภายในพื้นที่ เพื่อเป็นการตัดวงจรโรคแมลงในพื้นที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่อง ได้ทั้งแตงโม แตงไทย เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ต่อมาในปี 2565 นายคำพันธ์ พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่ม ได้สร้างการรับรู้และวางแผนการผลิตมันสำปะหลัง ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองยโสธร สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จนได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จากสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 11 จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากได้รับการสนับสนุนระบบน้ำฯ จึงได้ใช้นวัตกรรมระบบน้ำหยดเข้าทดลองในแปลงของตนเองพื้นที่โดยประมาณ 5 ไร่ ยกร่องระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 120-130 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ใช้รถไถเดินตามในการยกร่องปลูก การให้น้ำในแปลงให้ครั้งละ 2 ชั่วโมง จากเดิมผลผลิตเฉลี่ย6,302 กิโลกรัมต่อไร่ แปลงมันสำปะหลังน้ำหยดให้ผลผลิตเฉลี่ย 8,884 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.97 นอกจากนั้นยังสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่นได้ เป็นเกษตรกรผู้นำตัวอย่างที่มีแนวคิด วิธีปฏิบัติก้าวหน้า พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป