"สว.สมชาย" แฉข้อมูลพบมีการขนคนสมัคร-ฮั้วการเลือก สว.  จ้างคนลงลงสมัคร แนะ "กกต." ขยายไทม์ไลน์ประกาศผล 1-2 เดือน เพื่อความโปร่งใส เตือนหากปล่อยไปก่อนกกต.อาจนอนคุก ด้านผู้สมัครสว.ภาคประชาชนบุกกกต. ยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ไม่ให้อุทธรณ์คำสั่งถอนระเบียบแนะนำตัว พร้อมออกระเบียบใหม่ที่ไม่จำกัดสิทธิ 

     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 พ.ค.67 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ( สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการเลือกกันเองของ สว. ที่ล่าสุดจำนวนผู้สมัครเข้ารับการเลือกแต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนน้อยกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้าหลักแสนคน ว่า การเลือกของ สว. ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ ให้ได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แต่ขณะนี้พบว่ามีบางคณะการเมืองที่รณรงค์ให้ไปสมัครเป็นผู้เลือก (โหวตเตอร์) แทนต้องการเป็น สว. ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจน ขณะเดียวกันระเบียบของกกต.ในการเลือกยังพบว่ามีปัญหา และกกต.เตรียมอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งตนมองว่ากรณีดังกล่าวถือว่าาอันตราย และจะทำให้การเลือกมีปัญหา
   
  นายสมชาย กล่าวว่า ตนเห็นว่าเลขาธิการ กกต. พยายามให้สัมภาษณ์ว่าการเลือกจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ ซึ่งตนมองว่าหาก กกต. พยายามจะประกาศรับรองไปก่อน อาจเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและอันตราย เพราะตนได้ข้อมูลทั้งจาก ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และคนในพื้นที่ ทราบว่ามีกระบวนการทุจริตและฮั้วการเลือก และพบการว่าจ้างให้มาลงสมัครหัวละ 2,000 - 10,000 บาท เช่น บางพื้นที่มีการจ้าง 5,000 บาท เป็นค่าสมัคร 2,500 บาท ตัวเองได้ 2,000 บาท และให้ลูก 500 บาท รวมถึงการขนคนให้มาสมัคร โดยไม่รู้ว่าตนเองนั้นมาสมัครทำอะไร และจะทราบว่าต้องทำอย่างไรเมื่อถึงเวลาและมีผู้บอกขั้นตอน
     
  ผมอยากให้กกต.ตรวจสอบให้ดี เพราะหากเร่งประกาศและย้ำว่าจะทำตามไทม์ไลน์ เลขาฯกกต. และ กกต.อาจจะถูกดำเนินคดีเหมือนกับอดีต กกต. ชุดก่อนหน้านี้ ที่ถูกจำคุก4ปีได้ ดังนั้นเมื่อ กกต. มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้การเลือกที่ผิดมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่รับรองไปแล้ว แล้วสอยทีหลังเหมือนการเลือกสส. เมื่อ 14 พ.ค. ที่พบว่าไม่สามารถเอาผิดได้ ผมมองว่าหากกต.ตรวจสอบให้ดีให้โปร่งใสก่อนประกาศ และใช้เวลาช้ากว่าปฏิทินที่กำหนดไว้ 1-2 เดือนจะดีกว่า เพื่อทำให้ได้สว.ตรงปก และไม่เกิดปัญหา 
    
 นายสมชาย กล่าวต่อว่า ตนได้รับข้อมูลด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ กกต. ได้บอกกับผู้สมัครสว. ให้เปลี่ยนกลุ่ม เพราะพบว่าในกลุ่มเกษตรกรมีผู้สมัครจำนวนมาก จึงบอกให้เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มอื่น ซึ่งทำให้เห็นว่ามีกระบวนการทั้ส่อว่าจะฮั้วการเลือก และอาจจะได้ สว.แห่ ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตและตั้งคำถามว่า มีสว.ไว้ทำไม ซึ่งการได้มาซึ่งสว.นั้นอาจทำให้เกิดครหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยกล่าวหา สว.สรรหา อีก
    
 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สมัครสว.ภาคประชาชน นำโดย น.ส.นารากร ติยายน ,นพ.ไพโรจน์ สว่างตระกูล, น.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล ,นายธีรชาติ ก่อตระกูล และนายทวีป วานิชย์หานนท์ เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.เรียกร้องให้ไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนระเบียบกกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัครสว. รวม 4 ข้อ
   
  โดยน.ส.นารากร กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของเรามี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ตามข้อกฎหมายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา กกต.มีเวลา 30 วัน ในการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งพวกเราอยากให้กกต.ประกาศอย่างเป็นทางการโดยเร็วว่าจะไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว เพื่อให้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลในทางปฏิบัติทันที เพื่อให้ผู้สมัคร สว.ทุกคนสามารถแนะนำตัวได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมปราศจากความหวาดกลัว
   
  2.หาก กกต.มีการยกเลิกระเบียบฉบับเดิมและออกระเบียบฉบับใหม่ จะต้องไม่จำกัดเนื้อหาในการแนะนำตัว และไม่จำกัดการรับรู้ของประชาชน 3. กกต.ต้องประกาศสถานที่เลือกในระดับอำเภอโดยเร็ว แล้วต้องเป็นสถานที่ที่เป็นที่รู้จัก เดินทางสะดวก อีกทั้งให้ความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนแนวปฏิบัติ ว่าการเลือกจะต้องทำอย่างไร ผู้สมัครต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ใช้เวลาในการเลือกเท่าใด และ 4. กกต.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์ เลือกสว.ได้ตลอดกระบวนการ และให้ผู้สังเกตการณ์ ผู้สมัครมีสิทธิในการทักท้วงกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสะดวก และรวดเร็ว
   
  ด้าน นายทวีป กล่าวว่า ขณะนี้เวลากระชั้นชิดมากแล้วหากกกต.ยื่นอุทธรณ์ แล้วศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จะถือว่ากกต.มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดลิดรอนสิทธิประชาชน คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมาก็ระบุอยากให้การแนะนำตัวเป็นไปอย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนได้รู้ว่าตัวแทนเป็นใครมาทำอะไร เพื่อประชาชนจะได้ตรวจสอบประวัติผู้สมัครได้ ซึ่งก็จะทำให้การคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแค่ในขั้นตอนของการรับสมัครขณะนี้ตนก็มีข้อมูลว่าที่ จ.ชุมพร มีคนรวมกลุ่มกันสมัครคัดเลือกเพื่อบล็อกโหวต ทำให้การคัดเลือกที่ กกต.จัดขึ้นเป็นไปอย่างไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยเจอในกลุ่ม 8 คือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภคทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็จะนำข้อมูลนี้ส่งให้กับ กกต.ด้วย
   
  ขณะที่ นายธีรชาติ กล่าวว่า จำนวนผู้สมัครที่น้อยกว่าที่กกต.ตั้งเป้าไว้ เกิดจากความกลัวในเรื่องกฎเกณฑ์การแนะนำตัว ซึ่งการที่กกต.กำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวกันในหมู่ผู้สมัครเท่านั้นก็ผิดธรรมชาติ เพราะปัจจุบันสื่อออนไลน์หมดแล้ว ตอนนี้คิดว่า กกต.ยังมีทางเลือกกลับมาสร้างความหวังให้กับประชาชน โดยต้องคิดว่าทำอย่างไรให้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งก็อยากให้ กกต.คิดได้ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ เพราะถ้าการเลือกไม่โปร่งใสก็จะกระทบต่อทุกคน จึงอยากให้มีการเปิดเผยให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการคัดเลือกครั้งนี้ให้มากที่สุด