เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา สั่งเพิกถอนระเบียบกกต.ว่า ด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 2567 -15 พ.ค. 2567 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ โดยใช้เวลานาน 4 ชั่วโมง

จากนั้นนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุมว่า กกต.ได้พิจารณาคำพิพากษา และข้อเสนอของสำนักงาน ใน 4 ประเด็น ประเด็นแรก เนื่องด้วยขณะนี้อยู่ระหว่างหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกา ต้องมีการเลือกสว. กระบวนการเลือกสว. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ หากจะอุทธรณ์ คำพิพากษากว่าคดีจะสิ้นสุดก็จะ พ้นระยะเวลาการเลือกสว. ไปแล้ว ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นไรก็ไม่เกิดประโยชน์แก่การเลือกสว. ครั้งนี้แล้ว

ประเด็นที่ 2 สาระสำคัญของคำพิพากษา ซึ่งเป็นการขยายสิทธิให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกสว. ให้มากยิ่งขึ้น คำพิพากษาไม่กระทบต่อสาระสำคัญของการแนะนำตัว ของสว. ประการใด ประเด็นที่ 3 ความชัดเจนคือการแนะนำตัว ก็เพื่อประโยชน์ผู้สมัครในการแนะนำตัว และในส่วนของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกสว. ครั้งนี้ และประเด็นที่ 4 คือความเรียบร้อย เพื่อประโยชน์แห่งการเลือกสว. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ที่ประชาชนจะได้สว.ตาม Timeline ที่ว่างไว้ คือประมาณต้นเดือนก.ค.นี้

“กกต. พิจารณาแล้วจึงไม่เห็นสมควรอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้จะไม่มีการแก้ไขระเบียบใดๆ ผู้สมัคร สามารถแนะนำตัวได้ตามระเบียบกกต.ว่า ด้วยการแนะนำตัวฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ควบคู่ไปกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง”นายแสวง กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้สมัครพึงระวังการทำผิดตามมาตรา 77 ของพ.ร.ป.ว่า ด้วยการได้มาซึ่ง สว. และยึดการไม่ขอ หรือแลกคะแนน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่ถือว่าเป็นความผิด"นายแสวง กล่าว

เมื่อถามว่า คนรู้สึกเสียหายจากระเบียบของกกต. จึงตั้งคำถามว่า กกต.จะรับผิดชอบอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ก่อนจะออกระเบียบ เราก็ดูกฎหมาย รัฐธรมนูญมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า การออกระเบียบจำเป็นต้องให้เกิดความเสมอภาค และความเรียบร้อย เพราะกฎหมายไม่ไดเขียนกำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายสว. ดังนั้นยืนยันว่า กกต.ออกระเบียบออกเพื่อวามเสมอภาคและเรียบร้อย แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาออกมา กกต.จึงไม่อุทธรณ์

นายแสวง ยังกล่าวถึงยอดผู้สมัครสว.ที่พบว่า มีหลายจังหวัดเล็กที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ในขณะที่จังหวัดใหญ่ๆ มีผู้สมัครจำนวนน้อยว่า ก่อนหน้านี้กกต.ประเมินว่าจะมีผู้สมัครเป็นแสนคน ถ้าจะมีการจัดตั้งก็ต้องมีการจัดตั้งก็คงต้องมีการจัดตั้งอีกเป็นแสนคนเพื่อให้ได้รับคะแนนโหวต แต่สรุปยอดผู้สมัครสี่หมื่นกว่าคนจึงเหมือนเป็นไปตามธรรมชาติ การฮั้วจะถือว่าไม่เข้มข้น จะมีการจ้างสมัครหรือไม่ ตอนนี้ถือว่ายังอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ บางจังหวัดมีผู้สมัครจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้กฎหมายรู้ จึงได้ออกแบบไม่ให้มีการเปิดเผยชื่อระหว่างการสมัคร ถือเป็นมาตรการป้องกันการฮั้วระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีข้อสงสัยว่า ทำไมจังหวัดเล็กคนสมัครเยอะ จังหวัดใหญ่คนสมัครน้อย ตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ จากการสรุปยอดผู้สมัครสว.พบว่า มี 2 อำเภอ ที่ไม่มีผู้สมัครทั้ง 20 กลุ่ม และมี 7 อำเภอ ที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น เท่าที่รู้มีผู้สมัคร 10 คน โดยมีกลุ่มหนึ่งมีผู้สมัคร 3 คน และผู้สมัคร 1 คนใน 6 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม ในบางอำเภอมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม ซึ่งตามหลักสามารถเลือกไขว้ แต่ก็ต้องวันมารายงานตัว หากมี 1 กลุ่ม ไม่มารายงานตัวก็จะเหลือเพียงกลุ่มเดียว มีสภาพที่ไม่สามารถเลือกไขว้ได้ ก็ต้องตกไปเช่นกัน

กฎหมายกำหนดการเลือกสว.ให้เคลื่อนไปด้วยกันทั้ง 928 อำเภอ รวมเขต ในกรุงเทพฯ โดยในมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. กำหนดว่า การเลือกกสว.ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ฉบับนี้ เมื่อสภาพข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ระดับอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวต้องตกไป ทำให้ผู้สมัครระดับดังกล่าวไม่สามารถข้ามไปในระดับจังหวัดได้ เพราะไม่ได้เลือกไขว้ และไม่มีคะแนน เพราะมีเพียงแค่กลุ่มเดียวจะไปไขว้กับใคร กฎหมายกำหนดไว้ว่าการไขว้จะต้องมีคะแนน

อย่างไรก็ตาม นายแสวง ย้ำว่า การมีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวในอำเภอนั้น ไม่สามารถข้ามไปในระดับจังหวัดได้ อย่างน้อยจะต้องมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม แต่ไม่ได้กำหนดคะแนน ขอให้มีคะแนนและมีลำดับที่สามารถเลื่อนไปสู่ระดับจังหวัดได้