กกต.ชี้ช่องทางเช็กรายชื่อผู้สมัคร สว. กว่า  4 หมื่นรายชื่อทุกกลุ่มอาชีพ ระบุกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์สมัครมากสุด ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้อยสุด ด้านสวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้คนสมัครเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกสว.และไม่รู้วันเลือกสว. พร้อมคาดหวังให้สว.ชุดใหม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ถูกต้อง
 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  เผยสรุปจำนวนผู้สมัครรับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภา จำแนกเป็นรายกลุ่ม  หลังเปิดรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา  ตั้งแต่วันที่ 20 - 24 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สมัคร สว.ทั้งหมด 48,117  คน แบ่งตามกลุ่มประกอบด้วย  กลุ่มที่  1  กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  2,487 คน กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  1,869 คน     
     
กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 4,477 คน กลุ่มที่4  กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร  หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 1,628 คน  กลุ่มที่5 กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 3,422 คน กลุ่มที่6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 3,628 คน  กลุ่มที่7 กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน  อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 2,440 คน  กลุ่มที่8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 1,180 คน      
     
กลุ่มที่9  กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 1,844 คน กลุ่มที่10  กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)  มีผู้สมัคร 1,200 คน  กลุ่มที่11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  1,177 คน  กลุ่มที่12  กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  609 คน   กลุ่มที่13  กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน  มีผู้สมัคร 1,039 คน  
    
 กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี มีผู้สมัคร 4,589 คน กลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  5,211 คน  กลุ่มที่16  กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  1,819 คน กลุ่มที่17  กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร 2,168 คน  กลุ่มที่ 18  กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีผู้สมัคร  867 คน  กลุ่มที่19  กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน  มีผู้สมัคร 3,816 คน  และกลุ่มที่20 กลุ่มอื่นๆ มีผู้สมัคร 2,656 คน    
    
 ทั้งนี้ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครให้เสร็จสิ้น   และภายในวันที่ 29 พฤษภาคม จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบทุกกลุ่มอาชีพในเขตอำเภอ แยกเป็นรายกลุ่ม โดยมีหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร  ซึ่งเรียงลำดับตามตัวอักษรของชื่อตัวผู้สมัครของแต่ละกลุ่ม ชื่อตัวและชื่อสกุลของผู้สมัคร อายุ อาชีพ และวุฒิการศึกษาสูงสุด   ประกาศให้ประชาชนทราบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด  ศาลากลางจังหวัด   ที่ว่าการอำเภอ สถานที่ เลือก และจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  
    
 เมื่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้ประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นแล้ว สำนักงาน กกต.จะเผยแพร่บัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ทางเว็บไชต์ของสำนักงาน กกต.  www.ect go.th และแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote)  โดยประชาชนสามารถดูรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา และข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัครได้ 
    
 วันเดียวกัน  สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับการเลือก สว. ชุดใหม่ 2567" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,127 คน ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.67 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 54.30 ทราบว่าผู้จะสมัคร สว. จะต้องมีอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี และเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ขณะที่ ร้อยละ 45.70 ไม่ทราบ


เมื่อถามว่าประชาชนทราบหรือไม่ว่าผู้จะสมัคร สว. หาเสียงไม่ได้ แต่ให้แนะนำตัวได้เท่านั้น พบว่าร้อยละ 57.68 ระบุว่า ทราบ และร้อยละ 42.32 ระบุว่าไม่ทราบ เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่า "จะมีการเลือก สว.ชุดใหม่ รอบแรก (รอบระดับอำเภอ) วันที่ 9 มิ.ย.67" พบว่าร้อยละ 55.81 ไม่ทราบ นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 50.31 ไม่ทราบว่ามีเฉพาะผู้สมัคร สว. เท่านั้นที่มีสิทธิเลือก สว. โดยเป็นการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ และการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มอาชีพ
     
เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ สว. ชุดใหม่มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบอิสระ และเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าร้อยละ 52.35 ไม่ทราบ ส่วนความคาดหวังของประชาชนต่อสว.ชุดใหม่ พบว่า อันดับ 1 สว.ควรใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ถูกต้อง ร้อยละ 56.71 รองลงมาคือ ประวัติดี ซื่อสัตย์ สุจริต ร้อยละ 53.88 และตั้งใจทำงาน เป็นที่พึ่งของประชาชน ร้อยละ 44.24
     
สำหรับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ตัวเลขที่ออกมาสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานด้านการสื่อสารข้อมูลของ กกต. ที่ส่งผลต่อการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ผลการสำรวจครั้งนี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการและนักการเมืองบางท่านมองว่า สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกัน ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหรือไม่
     
อย่างไรก็ตาม ประชาชนกลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ถึงคุณสมบัติและข้อจำกัดของ สว. อยู่บ้างในเรื่องข้อจำกัด เรื่องการแนะนำตัว หรือหาเสียง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อ กกต. ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบปฏิบัติ และซึ่งขณะนี้มีผู้ไปร้องศาลปกครองอาจส่งผลให้การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกหรือต้องขยายระยะเวลาออกไป