ยกให้เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ในวิกฤติปัญหาของโลกเรา

สำหรับ วิกฤติปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ซึ่ง ณ ปัจจุบันหลายคน หลายองค์กร หรือแม้กระทั่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ระบุให้เป็น “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งรุนแรงเกินกว่า “ภาวะโลกร้อน” ไปแล้ว

โดยความใหญ่โตของวิกฤติปัญหานี้ หลายๆ คนก็อยากจะ “พูด” ถึงมัน ด้วยสาเหตุหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความห่วงใยต่อโลก ต่อมนุษยชาติเรา ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนี้ หรือแม้กระทั่งหลายๆ คน ก็มี “ประสบการณ์ตรง” คือ ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะโลกร้อนอย่างโดยตรง แต่มิอาจ “พูด” ให้ใครๆ ฟังได้ เพราะหา “เวที” คือ “สถานที่” ที่จะพูดถึงเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ รวมถึงผลกระทบของมันได้ค่อนข้างยาก ตลอดจน “ผู้ที่จะรับฟัง” ก็อาจจะหาได้ยากยิ่งอีกด้วยกัน เพราะจะต้องเป็นกลุ่มคน “คอเดียวกัน” จึงจะจับกลุ่ม จับคู่สนทนา พูดคุยกันได้อย่างถูกคอ

คณะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง นั่งรับฟังการสนทนาเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาโลกร้อน ในระหว่างรับประทานอาหารและเครื่องดื่มภายในร้านภูมิอากาศคาเฟ่แห่งหนึ่ง (Photo : AFP)

ดังนั้น “ภูมิอากาศคาเฟ่ (Climate Cafe)” ร้านอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็ก สำหรับการเป็นสถานที่สนทนา พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ คือ กลางคริสต์ทศวรรษ 2010 หรือกลางคริสต์ทศวรรษที่แล้วนี้เอง ซึ่งแน่นอนว่า ร้านคาเฟ่ หรือร้านอาหารในลักษณะนี้ ก็ต้องเป็นสถานที่แบบรักษ์โลก หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกเราด้วย มุ่งเน้นด้านธรรมชาติเป็นประการสำคัญ เพื่อเข้ากับ “ธีม” ของทางร้าน

เป็น “ภูมิอากาศคาเฟ่” ที่เปิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย “เจสส์ เปปเปอร์” ได้ก่อตั้ง “ภูมิอากาศคาเฟ่” ขึ้นที่เมืองดันเคลด์ และที่เมืองเบอร์นัม ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

โดยร้าน “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “เจสส์ เปปเปอร์” ซึ่งเป็นร้านคาเฟ่เล็กๆ ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเมืองที่ร้านนี้เปิด คือ เมืองดันเคลด์ และเมืองเบอร์นัม ในประเทศสกอตแลนด์ นั่นเอง

ก่อนที่ในเวลาต่อมาได้พัฒนาขยับขยายในการสนทนาเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อนด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบ ความเดือดร้อนที่ได้รับ นอกเหนือจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยถึงขั้นเป็นสถานที่จัดประชุมแบบย่อยๆ กันเลยทีเดียว แต่ยังคงความเป็นร้านคาเฟ่ แบบภูมิอากาศคาเฟ่เอาไว้อยู่

อาทิเช่น ร้าน “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “รีเบคกา เนสเตอร์” นักจิตวิทยาชาวเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง “พันธมิตรจิตวิทยาด้านภูมิอากาศ (Climate Psychology Alliance)” องค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการสำรวจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อด้านจิตใจของมนุษย์

โดยนักจิตวิทยาชาวนครอ็อกซ์ฟอร์ดแห่งเมืองผู้ดีรายนี้ ก็เปิดร้านภูมิอากาศคาเฟ่ขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับประชุมแบบย่อยๆ ของผู้คนทั้งที่ได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน จากวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น และมีความห่วงใยต่อวิกฤติปัญหาของภาวะโลกร้อนที่มีต่อโลกเราเป็นประการต่างๆ ซึ่งต้องการให้โลกได้หวนกลับคืนสู่สภาวะความสมดุล และมีความสมบูรณ์อีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็สามารถบรรเทาวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ ผ่านการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา ที่เดินทางมาชุมนุมในร้านภูมิอากาศคาเฟ่ แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี

ทั้งนี้ ร้าน “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “รีเบคกา เนสเตอร์” ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) หรือหลังจากร้านของ “เจสส์ เปปเปอร์” ประมาณ 3 ปี

ดังนั้น จึงจัดได้ว่า “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “รีเบคกา เนสเตอร์” เป็นร้านคาเฟ่ที่ใช้เป็นสถานที่ที่บรรดาลูกค้าได้เข้ามาพูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม ในยุคแรกๆ หรือจะเรียกว่า เป็นรุ่นบุกเบิก สืบเนื่องต่อร้าน “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “เจสส์ เปปเปอร์” เลยก็ว่าได้

ที่มาที่ไปของร้าน “ภูมิอากาศคาเฟ่” ของ “รีเบคกา เนสเตอร์” ที่เปิดให้พื้นที่พูดคุยสนทนาเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อนในประเด็นต่างๆ กว้างขวางขึ้นนั้น ก็ได้แรงบันดาลใจ ร้าน “คาเฟ่แห่งความตาย ( Death Cafe)” ในประเทศอังกฤษ

โดย “คาเฟ่แห่งความตาย” นั้น จะเป็นสถานที่ที่ให้ผู้คน คือ ลูกค้าที่มาเข้าร้านนั้น ได้ทบทวนชีวิตในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นอย่างไรบ้าง ต่อเนื่องไปถึง “ความตาย” ที่กำลังจะมาเยือนในอนาคต อันรวมไปถึงชีวิตหลังความตาย เมื่อละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้บรรดาลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ได้ตระหนัก และเห็นถึงสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน

“รีเบคกา เนสเตอร์” เปิดเผยด้วยว่า หวังว่าร้านภูมิอากาศคาเฟ่ จะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนทั่วโลก สำหรับ การใช้เป็นสถานที่พูดคุย สนทนา อาจจะเป็นแบบประชุมสัมมนาเล็กๆ โดยผู้เข้าร่วมสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจเกี่ยวกับวิกฤติปัญหาของภาวะโลกร้อน และผลกระทบของมัน ตลอดจนผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้เป็นพื้นที่ได้ระบายความในใจ ผ่อนคลายความเครียด เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งผู้ที่เป็นห่วงต่อวิกฤติปัญหานี้ ก็ล้วนแต่มีความเครียด ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาทั้งสิ้นได้ใช้เป็นเวทีแสดงออก

ร้านภูมิอากาศคาเฟ่แห่งหนึ่ง แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ผจญเพลิง ที่ช่วยกันดับไฟป่า (Photo : AFP)

ในส่วนของทางการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา รับมือกับวิกฤติปัญหาภาวะโลกร้อน หากจะลองไปเข้าร่วม หรือไปนั่งรับฟังการพูดคุยสนทนา ก็น่าจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัญหาที่แท้จริงและอาจแตกต่างจากการรายงานของหน่วยงานทางการ ซึ่งอาจจะหาฟังจากที่อื่นๆ ได้ยาก อันเป็นประโยชน์มิใช่น้อย