“พระปกเกล้าฯ”  เผยผลสำรวจความนิยมประชาชน  “1 ปีหลังเลือกตั้ง”   พบส่วนใหญ่ยังเลือก  “ก้าวไกล” เป็นอันดับ 1 อยากเห็น “พิธา”   เป็นนายกฯ มากที่สุด

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด   เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี  1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566”    จำนวน 1,620 ตัวอย่าง   ทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567   ใช้วิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง  ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป   ได้สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (stratified random sampling) ในทุกจังหวัด  รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต   ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล    รองลงมาระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย  คิดเป็นร้อยละ 18.1   ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2    ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.2   ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.8   ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5    ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ1.6 ผู้สมัครจากพรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ     ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุ  ว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่น ๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ รวมกันอีกร้อยละ 10.2

เมื่อสอบถามต่อว่าแล้วในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ   ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด      ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 44.9 ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล    รองลงมาระบุว่าจะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 20.2   พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 10.9 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.5    พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3     พรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.3 และพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.7 ตามลำดับ     นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบที่ระบุว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่น ๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ รวมกันถึงร้อยละ 12.6

เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566    ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรค   คือ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ      โดยพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9.67 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง    ส่วนพรรคประชาชาติได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 0.35    ซึ่งอาจทำให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง

ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลดลง จำนวน 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 7  และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไป 28 ที่นั่ง    พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 3.41 มีโอกาสเสีย 11 ที่นั่ง    พรรคภูมิใจไทยคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 2.64 มีโอกาสเสีย 10 ที่นั่ง    และพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 1.13 มีโอกาสเสีย 3 ที่นั่ง    อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.47  และพรรคชาติไทยพัฒนาที่ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.02 นั้น   คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งสองมีที่นั่ง สส.ลดลง 

ส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่า มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น   คือ พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 8.33     พรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.62     พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.66     พรรคภูมิใจไทย ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6    และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ0.19    ซึ่งคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้พรรคก้าวไกลมีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 8 ที่นั่ง  และพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง เพียงสองพรรคเท่านั้น  ส่วนคะแนนที่เพิ่มขึ้นของอีกสามพรรคยังไม่มากพอที่จะทำให้ได้ที่นั่งเพิ่ม

ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลดลง จำนวน 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 7.49   พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.18 และพรรคประชาชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.24    คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวมีผลให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อน้อยลง 8 ที่นั่ง   พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสได้น้อยลง 2 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติมีโอกาสได้ที่นั่งน้อยลง 1 ที่นั่งตามลำดับ

เมื่อนำตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้รับจากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกัน พบว่า หากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลานี้  พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด รวม 208 ที่นั่ง    รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 105 ที่นั่ง    พรรคภูมิใจไทย 61 ที่นั่ง   พรรครวมไทยสร้างชาติ 34 ที่นั่ง   พรรคพลังประชารัฐ 30 ที่นั่ง   พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง    พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง   และพรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง ตามลำดับ ส่วนที่นั่งที่เหลือจะกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่น ๆ รวม 21 ที่นั่ง 

เมื่อสอบถามว่าถ้าเลือกได้ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด  ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่า อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาระบุว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 17.7   น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 10.5  นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 8.7    นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 3.3   นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 1.7 และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 0.4 ตามลำดับ  และยังมีผู้ตอบที่ระบุชื่อคนอื่น ๆ รวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมอีก ร้อยละ 10.9