วันที่ 26 พ.ค.67 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล, พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ., ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ., พ.ต.ท.นนทพัทธ์ ยอดแก้ว, พ.ต.ท.ภาสกร นภาโชติ, พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์, พ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ.
 
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.ประภาส วังงาม สว.กก.3 บก.ปอศ., ว่าที่ ร.ต.ท.ปัณณ์วิชญ์ สร้อยปลิว รอง สว.(ป) กก.3 บก.ปอศ., ด.ต.ไกรราช เทียมยศ และ ส.ต.อ.นคเรศ อุตสา ผบ.หมู่ กก.3 บก.ปอศ.        ได้ร่วมกันจับกุม น.ส.กุลสิริยา  อายุ 49 ปี ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้า สู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง, เปิด หรือ ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือ ยืมใช้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่รู้ หรือ ควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดอาญาอื่นใด, สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, มีส่วนร่วมกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรม หรือโดยรู้เจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว อันเป็นความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”  ที่บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ หมู่ 19 ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
 
สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังถูกกลุ่มคนร้ายชักชวน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกให้ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยมีการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการเทรดหุ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนชักชวนเข้าร่วมกลุ่มไลน์ VIP แนะนำการลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีการอ้างผลตอบแทนสูง และมีข้อมูลวงในที่ใช้ในการลงทุน โดยให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน ในช่วงแรกสามารถทำกำไรได้จริงและสามารถถอนเงินได้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมากอีกหลายครั้งแต่เมื่อลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยคนร้ายอ้างว่าหากผู้เสียหายต้องการถอนเงินจะต้องวางเงินประกันการลงทุนเพิ่มเติม และจะต้องเสียภาษี 20% ของกำไรจึงจะสามารถถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายทำตามที่คนร้ายแจ้งก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยอ้างว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าประกัน และค่าภาษีเพิ่มเติม เป็นข้ออ้างไปเรื่อย ๆ เมื่อทำการตรวจสอบแอปพลิเคชันดังกล่าวพบว่า ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อย่างใด เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียหายเกือบ 10 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน กว่า 800 ล้านบาท          


ภายหลังรับเรื่องร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันสืบสวนอย่างละเอียดจนทราบข้อมูลและผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการหลอกลงทุนดังกล่าว ทางพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมขออนุมัติศาลอาญาฯ ออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 50 กว่าราย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำไปสู่ปฏิบัติการ “CIB breaks up online scam syndicate ปฏิบัติการสกัดภัยอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ” และสามารถจับกุมผู้ต้องหาในกระบวนการได้แล้ว 20 กว่าราย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสามารถสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มได้อีกหนึ่งรายคือน.ส.กุลสิริยา ซึ่งเป็นผู้ใช้บัญชีธนาคารภายในประเทศไทยในการรับผลประโยชน์จากชาวมาเลเซียเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. และทำการสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
สอบถามคำให้การเบื้องต้น ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งให้การว่า เป็นแม่ยายของผู้ต้องหารายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการหลอกลงทุน โดยอ้างว่าลูกเขยซึ่งเป็นชาวมาเลเซียนำบัญชีของผู้ต้องหาไปใช้ ผู้ต้องหาไม่มีส่วนได้เสียรับผลประโยชน์ใด ๆ และไม่รู้เรื่องในการหลอกลงทุนดังกล่าว

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทต่างประเทศ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ท่านอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว หากต้องการลงทุนแนะนำให้เลือกลงทุนกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้ถูกหลอกลวงและเกิดความเสียหาย จากผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มมิจฉาชีพ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์