กองทัพเรือจัดกิจกรรม “รักษ์ทะเล รักษ์แสมสาร” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพเรือ (อพ.สธ.- ทร.) เป็นประธานจัดกิจกรรม“รักษ์ทะเล รักษ์แสมสาร” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ รู้จักหวงแหนและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย การร่วมปลูกต้นโกงกางบนแปลงสาธิต การจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. - ทร. การเยี่ยมชมอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย การจัดอบรมเยาวชน อพ.สธ. โดยนำเยาวชนอาสาสมัครเข้าร่วมอบรมการผลิตคลิปสั้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ อพ.สธ. โดยมีหน่วยงานร่วมในกิจกรรม ได้แก่ กองทัพเรือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. - ทร. ซึ่งเป็นคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 400 คน

กองทัพเรือ ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพเรือ (อพ.สธ. - ทร.) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2541 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติแก่กองทัพเรือในการดำเนินงานกิจกรรมสร้างจิตสำนึกของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสารว่า ควรพิจารณาปฏิบัติตามรูปแบบของอุทยานแห่งชาติเกาะปอร์เกอรอลส์ และเกาะโคร์ส ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนในปี พ.ศ. 2538 และทรงมีความประทับใจในวิธีการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศต่อเยาวชน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อันก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้ฝากงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนี้ไว้ต่อกองทัพเรือด้วย โดยมีพระราชกระแสต่อผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อ 31 พฤษภาคม 2544 ว่า "... ให้กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ.."

จากพระราชกระแสและพระราชดำริข้างต้น กองทัพเรือจึงมุ่งหน้าดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสาร และในส่วนของกิจกรรมสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน กองทัพเรือได้พิจารณาจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยขึ้นบนฝั่งสัตหีบตรงข้ามเกาะแสมสาร รวมทั้งจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารเพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ

ในการนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นชอบและยังพระราชทานแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมด้วยว่า

"ควรให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนฝั่งมากกว่าที่จะไปรบกวนบนเกาะ"

"ที่เกาะแสมสาร จะทำแบบเกาะปอร์เกอรอลส์ไม่ได้ เพราะเกาะของเราเล็ก ฉะนั้น ควรให้คนมาดูแล้วกลับไป ไม่ให้มีที่ค้าง"

"เนื้อหาที่จะจัดแสดง (ในพิพิธภัณฑ์) จะต้องให้เป็นการสอนและปรับปรุงให้ใหม่อยู่เสมอ และควรมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง"

และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเกาะแสมสารเพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของ อพ.สธ. - ทร. และได้ฝากงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไว้ต่อกองทัพเรือ จึงได้น้อมนำแนวทางพระราชทานมาดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลของพันธุ์ไม้นานาชนิด สัตว์ต่าง ๆ ในระบบนิเวศ รวมทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และอุตุนิยมวิทยา ตลอดจนได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยขึ้นที่บริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมุ่งหวังให้ผู้เยี่ยมชมตระหนักเห็นความสำคัญและคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกองทัพเรือได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง