เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2567 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โฟสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

เราเลือก“ตัวแทน”ไปทำไม

-ตัวแทนที่ว่านี้ ผมเน้น ส.ส และ สว.เป็นหลัก

-เราเลือกเพราะ

1.เลือกเพื่อให้เขา“พูดแทนเรา” เขาจะพูดดี พูดไม่ดี ก็ช่างเขา เพราะประชาชนเป็นอย่างไร ตัวแทนก็เป็นอย่างนั้น แต่ขอให้เขาได้พูด ตอนเปิดประชุมรัฐสภาครั้งหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า “ผู้แทน คือ ผู้ที่พูดแทนประชาชน“ เราลองพิจารณาดูว่า สมมุติว่า มีคนสัก 100 คน มาประชุมกัน แล้วเราถามว่า เย็นนี้ เราจะกินอะไรกันดี รับรองฟังไม่ได้ศัพท์แน่ แม่ครัวทำอาหารไม่ถูก เราอดแน่ จึงต้องมีตัวแทนบางคนมาพูดแทนให้ตรงตามความประสงค์ของคนส่วนใหญ่

2.ผู้แทน คือ “ผู้ที่ใช้ดุลพินิจแทนเรา” เราเลือกผู้แทนเพราะเราไม่มีเวลา หรือ เราไม่ชอบ หรือ เราไม่สะดวกที่จะไปใช้ดุลพินิจในบางเรื่อง เราจึงเลือกเขาไปใช้ดุลพินิจแทนเรา ผู้แทนไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นว่านักกฎหมายจะเป็นผู้แทนได้ดีกว่าเกษตรกร,ครู,หมอ,วิศวะกรฯ เพียงแต่หากเรื่องไหนเขาไม่ถนัด เขาต้องขวนขวายหาความรู้ เพื่อมาใช้ดุลพินิจแทนเราได้อย่างถูกต้อง ก็พอแล้ว

-ผู้แทน จึงต้องกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าออกความเห็น เราเห็นบางคนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีความรู้ดี แต่เมื่อเขาเป็นผู้แทน เขาไม่เคยแสดงความเห็นอะไรแทนเราเลย เขาเหล่านั้นตามหลักแล้ว ก็เป็นผู้แทนที่ดีไม่ได้หรอก(แต่เขาอาจะดีในการทำหน้าที่อย่างอื่น)

-นี่เป็นหลักการพื้นฐานธรรมดาในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

-ตัวแทนที่เป็น ส.ส. กับ สว. เขามีหลักในการเลือกแตกต่างกัน เพราะทำคนละหน้าที่ แต่มีหลักในการเลือกต่างกันอย่างไร ค่อยว่ากันในตอนต่อไป