วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.00 น. ณ ลานสนามบินเครือสหพัฒน์ ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดงาน 130 ปี ของดีศรีราชา มหกรรมสับปะรด ครั้งที่ 5 โดยมี นายอาทิตย์ ทองพิมพ์ เกษตรอำเภอสัตหีบ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอศรีราชา กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงาน
หากพูดถึงสับปะรด ชื่อสับปะรดศรีราชา จะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาเกือบร้อยปีนับตั้งแต่ท่านเจษฎาธิการเทโอฟาน (ชิน บุญยานันท์) อธิการคนแรกของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ได้นำพันธุ์สับปะรดเข้ามาทดลองปลูกและเผยแพร่ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่รกร้างของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เพื่อก่อให้เกิดรายได้มาใช้ในกิจการการศึกษา ซึ่งผลผลิตมีผลโตกว่าสับปะรดพื้นบ้าน 4-5 เท่า เวลาแก่จัดสีออกไปทางม่วงๆ เมื่อสุกงอมจะเป็นสีเหลือง รสหวานฉ่ำ ได้รับความนิยม และมีราคาแพงมากในสมัยนั้น บางลูกหนักถึง 5 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละลูกมีการประทับตราเอซี ซเป็นอักษรย่อของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ไว้ที่ขั้วสับปะรด บางคนจึงเรียกสับปะรดนี้ว่า สับปะรดเอซี ต่อมาท่านได้จัดจำหน่ายหน่อสับปะรดด้วย มีผู้มาซื้อหาไปปลูกเพราะได้ราคาดี จนแพร่หลายไปทั่วศรีราชา กลายเป็นสับประรดศรีราชา มีชื่อเสียงโด่งดังตราบเท่าทุกวันนี้
อำเภอศรีราชา จึงได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อจัดงานสับปะรดศรีราชาขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรอำเภอศรีราชา ,สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอศรีราชา ,สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ,สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีราชา ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาคมสื่อมวลชลศรีราชา ร่วมกันจัดงานขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตชุมชน ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมชุมชน เป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี สมานฉันท์ ความปรองดอง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีอีกด้วย
โดยกิจกรรมในงานมีการ การประกวดสับปะรดพันธุ์ดี, การประกวดมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ,การแข่งขันการทำสับปะรดกวน ,การแข่งขันการทำแกงคั่วสับปะรด ,การแข่งขันส้มตำลีลา ,การแข็งขันการกินสับปะรด ,การประกวดธิดาสับปะรดศรีราชา ,การประกวดหนูน้อยสับปะรด ,การประกวดการประกวดสาวเหลือน้อยสับปะรด และเดินแบบผ้าไทย เป็นต้น