หมายเหตุ : “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีตสส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 วิเคราะห์อุณหภูมิการเมืองหลังครบรอบ 1ปีของการเลือกตั้งและ ครบรอบ 9เดือนของการบริหารประเทศ ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”  โดยมีการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ คนที่ 23 เป็นเสมือน “ตัวแปร” สำคัญ

- รัฐบาลผสม 314 เสียง วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ภายหลังบริหารประเทศผ่านไปแล้ว 9 เดือน หลังจากที่ข้ามขั้วมาจับมือกัน มองว่าวันนี้ยังรักกันดีอยู่หรือไม่

จากการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วนั้น ซึ่งขั้วที่ว่านั้นก็อยู่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจน มาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร ในปี 2557 โดยฝ่ายหนึ่งก็นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจ หลังการรัฐประหารปี 2557 มีการเลือกตั้งในปี 2562 การขึ้นครองตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ทำให้การเมืองยังเป็นสองขั้วชัดเจน ในขณะนั้น

แม้แต่การเลือกตั้งในปี2566 ยังดูเหมือนว่าจะเป็นสองขั้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “ดีลลับ” ที่แน่ๆที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เห็นอยู่สองอย่าง คือหนึ่งพรรคที่ข้ามขั้วกัน อย่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  คือพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย กลับมาจูบปากกันได้

อันนี้เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่น่าสงสัยว่า ดีลลับของเขา คือดีลอะไร จากนั้นก็เห็นคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯกลับมาอย่างเท่ๆ คือติดคุกทิพย์ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพักโทษ แต่ก็ยังมีกิจกรรมต่างๆเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลเองก็เงียบ

ผมเข้าใจว่า ตอนนี้รัฐบาล ที่ผูกกันอยู่ได้ เป็นเรื่องของดีล  และดีลในที่นี้อาจจะเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายข้ามขั้วมาจับมือกัน เพื่อที่จะบริหาร และแบ่งกันไปว่าใครได้บริหารอะไรกันบ้าง คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือพรรคเพื่อไทย หากถามว่ายังรักกันดีอยู่ไหม ผมคิดว่าปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ได้สะท้อนว่าการอยู่ร่วมกันจะกลมเกลียวมากนัก แต่มันผูกพันกันด้วยที่ว่า ต่างคนต่างได้รับผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องการ หรือคาดหวังมาตั้งแต่ต้น

ผมคิดว่าภารกิจของพรรคเพื่อไทยเองนั้นยังไม่จบ โดยคุณทักษิณ ยังไม่ได้พ้นโทษ แบบ100 เปอร์เซ็นต์ และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้กลับมา ซึ่งคุณทักษิณ เองเคยประกาศเอาไว้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ จะกลับมาในเดือนต.ค.นี้ ดังนั้นเมื่อยังไม่ถึงเดือนต.ค.ผมเองก็เข้าใจว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะหวานอม ขมกลืนกันอย่างไรก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มันก็ต้องเกี๊ยะเซียะกันลงตัว  เพราะต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ ส่วนประชาชนจะเป็นอย่างไร ก็ช่างมัน

เพราะอะไรหลายอย่างที่รับปากไว้ ก็ไม่ได้ทำตามที่รับปาก อย่างเรื่องแจกเงิน 1 หมื่นบาท ทำไปทำมาก็คิดว่าคงยืดไปเรื่อย ไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นผมจึงคิดว่า แม้จะรักหรือไม่รักกันอย่างไร แต่ทั้งสองฝ่ายต่างสมผลประโยชน์ ก็ต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน กรณีการนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด หรือกรณีในกระทรวงการคลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาภายใน ของแต่ละพรรค ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันเองต่างหาก

ตอนนี้มีข่าวออกมาเยอะแล้ว อย่างกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติเอง ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยราบรื่นนัก ในเชิงลึกมีเรื่องนินทากันเยอะ ว่ามีปัญหากันระหว่าง คนซึ่งอยู่เบื้องหลังพรรค กับคนที่ทำงานอยู่เบื้องหน้าพรรค เราก็ไม่รู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่การลาออก ของแกนนำรพรค ทั้งคุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ และคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  ก็สะท้อนปัญหาภายใน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าจะไม่พันไปถึงขั้นที่ว่าจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ผมเชื่อว่าเขาจะยังอยู่ร่วมรัฐบาลกันต่อไป เพราะมันเป็นดีลที่ทำกันมาตั้งแต่ต้น

แต่ปัญหาที่มันกำลังจะเกิดขึ้น คือดีลนี้จะยังคงอยู่ต่อไป หรือบทบาทของคุณทักษิณ จะทำอะไรที่เรียกว่า โอเวอร์ ดีล ซึ่งถ้ามันโอเวอร์ ดีล ผมว่า จะทำให้บางฝ่ายเกิดความอึดอัดใจ

อย่างกรณีของการที่คุณทักษิณ ไปเจรจากับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา เรื่องนี้ผมว่าอาจจะทำให้หลายฝ่ายอึดอัดไปส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ออกมาพาดพิง ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับกรณีที่คุณทักษิณ ไปพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยในเมียนมาที่ผ่านมา และเรื่องโอเวอร์ ดีล ยังต้องจับตาว่าจะมีต่อจากนี้ไปอีกหรือไม่ เรายังไม่รู้ เพราะตัวคุณทักษิณ เองก็มีลักษณะของการไม่ยี่หระอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ  และรู้ว่าใครทำอะไรเขาไม่ได้

ดังนั้นมันจึงสะท้อนออกจากเสียงของบางฝ่าย ที่มีการเรียกร้องให้คนนั้น คนนี้มาคุยกันได้แล้ว เพราะตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว แต่ผมมองว่าเป็นเพียงการจุดกระแสบางอย่าง ที่ยังจุดไม่ติด ยังไม่สุกงอมมากพอ แต่ผมคิดว่าเชื้อมันเริ่มแล้ว และคิดว่าต้องจับตามองการชุมนุมของม็อบคปท. แม้ว่าตอนนี้คนอาจจะยังน้อยอยู่ แต่ประเด็นที่เคลื่อนไหว นับวันจะแหลมคมมากขึ้น และมีการเติมเชื้อมาจากฝั่งรัฐบาลเองมากขึ้นเรื่อยๆ

การเคลื่อนไหวเดิมของคุณจตุพร พรหมพันธุ์ และทนายนกเขา ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขามีเป้าหมาย ล่าสุด ผมเห็นข่าวว่า คปท.จะยกขบวนไปไล่ คุณทักษิณ ที่จะไปโคราช ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ซึ่งต้องจับตามองว่า คนจะมากหรือน้อย ก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่อาจจะเป็นเชื้อที่จะปะทุขึ้นในอนาคต 

- รัฐบาลภายใต้เงาของคุณทักษิณ แต่มีการขับเคลื่อนโดยคุณเศรษฐา ยังมีความสุ่มเสี่ยงอะไรที่จะต้องเผชิญหน้า จากนี้อีกบ้าง นอกเหนือไปจากประเด็นนโยบายแจกเงินหมื่น ซึ่งรัฐบาลให้ความหวังว่า เงินจะเข้ากระเป๋าคนไทย 50 ล้านคนในราวไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ผมมองว่ามันเป็นเหมือนคำสัญญาในก้อนเมฆ และมีปฏิกิริยาของผู้คนมากมาย เนื่องจากไทม์ไลน์มันช้าออกไปจากเดิมที่รัฐบาลเคยบอกเอาไว้ แต่ที่ถามมานั้นก็ถือว่าตรงตัว คือรัฐบาลนี้ชี้นำโดยคุณทักษิณ ส่วนคุณเศรษฐาเองก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นคนขับเคลื่อน แต่คนที่เป็นนอมินีคุณทักษิณ ทุกคนที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือคุณยิ่งลักษณ์ เองก็ต้องเดินตามรอย สมัยที่คุณทักษิณ ทำเอาไว้

เพราะฉะนั้นแนวทางการบริหารงาน ก็คงอาศัยวิธีการที่จะปั่นตัวเลข หรือปั่นเศรษฐกิจต่างๆ ให้มันฟูขึ้น ดูสวยหรูเพื่อที่จะปกปิดข้อเท็จจริง บางเรื่องที่อาจจะทำให้คนไม่สบายใจ  กรณีที่การออกปรามธปท.ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย พยายามปั่นตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ถ้า ธปท.ไม่ให้ความร่วมมือ ก็เป็นเรื่องยาก จึงปรามเอาไว้ ซึ่งการออกมาโยนระเบิดใส่ธปท.แม้จะไม่ได้ผลในเชิงของการปลดผู้ว่าฯธปท. แต่จะได้ผลในแง่ของการสกัดการเคลื่อนไหว และดิสเครดิตธปท. ไปด้วย

ซึ่งถ้าจะมองภาพรัฐบาลที่จะบริหารกันต่อไป ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะมันไม่มีนโยบายอะไรที่มาจากการหาเสียงชัดเจน ว่ามีการขับเคลื่อน เหมือนกับตอนที่คุณทักษิณ เคยมาเป็นนายกฯ ครั้งแรกในปี 2544  หากจะได้ตอนนั้น รัฐบาลขับเคลื่อนทันที ทั้งเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน  แต่เวลานี้ด้วยความที่เป็นรัฐบาลพรรคร่วม ประกอบกับนโยบายที่ประกาศเอาไว้ก็เป็นเหมือนคำโตโอ้อวด ซึ่งไม่ง่ายที่จะทำ  

และพื้นฐานความแข็งแกร่งภาคการคลังของเรา ก็ไม่ได้ไปรองรับ อย่างกรณีโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต  ซึ่งต้องใช้เงินถึง 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบไปถึงหลายเรื่อง เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ง่ายในการขับเคลื่อนอะไรที่เคยโฆษณาเอาไว้

ดังนั้นผมเชื่อว่า รัฐบาลคงจะใช้วิธีการบริหารโดยใช้วาทกรรมไปวันๆหนึ่ง เพื่อให้ภารกิจของคุณทักษิณ สำเร็จ โดยจะรอไปถึงเดือนต.ค.ตามที่บอกเอาไว้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงนั้น

เวลาอ่านว่ารัฐบาลชุดนี้จะขับเคลื่อนอย่างไร ขอให้อ่านนิสัยคุณทักษิณ ซึ่งผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาเหมือนกัน ว่าการที่คนเราต้องถูกให้ออกไปนอกประเทศนานๆ มันต้องเป็นปมในใจ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ดังนั้นเมื่อกลับมาก็จะต้องพยายามไปลบ หรือกลบปมเหล่านั้น ซึ่งคุณทักษิณ เองพยายามที่จะมีบทบาทในลักษณะที่ว่าตนเองไม่เคยผิดอะไรมาก่อน                

ดังนั้นส่วนนี้จึงทำให้ตัวรัฐบาลเอง จะเคลื่อนอะไรไปในเชิงของการทำงานร่วมกัน ไม่ได้เห็นรูปธรรมชัดเจนนัก เพราะคนซึ่งใหญ่กว่ารัฐบาล เขาก็มีเป้าประสงค์เฉพาะของเขา

-ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเพื่อไทยเองก็ทำงานได้ไม่ง่ายนัก

การลาออกจากรัฐบาล ของคุณปานปรีย์ พหิทธานุกร หรือการถูกปลดออกของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  ผมมองว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นไม่เบาเลยทีเดียว  เพราะการลาออกของคุณปานปรีย์ เองก็สะท้อนปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย ว่า แม้คุณทักษิณ ยังสามารถชี้อะไร ต่ออะไรภายในพรรคได้ แต่ก็ยังมีคนที่กล้าจะแสดงปฏิกิริยา ในลักษณะที่ไม่เห็นด้วย แต่คิดว่ายังไม่ถึงจุดที่จะนำไปสู่ขั้นแตกหัก หรืออยู่กันไม่ได้

แต่ที่อยากจะชี้ถึงจุดที่น่าสนใจคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกล ส่งคำชี้แจงสู้คดียุบพรรค ออกไป ทำให้มีเรื่องร่ำลือในทางการเมือง ว่าในเดือนส.ค.นี้ น่าสนใจ หนึ่งคือรัฐบาลอยู่ครบปี สอง ช่วงนั้นคุณทักษิณ น่าจะพ้นโทษแล้ว และสาม คดีของพรรคก้าวไกล อาจจะถึงที่สุด

มีการวิเคราะห์กันต่อไปว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกลขึ้นมาจริงๆ สมดุลทางสภาฯ จะเสียไปหรือไม่ เช่นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรคไป ทำให้มีคนหายไปบางส่วน ในความหมายนี้คือการทำให้เหลือฝ่ายค้านน้อยลง ทำให้รัฐบาลมีเสียงเด็ดขาดเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณทักษิณ ก็สมประโยชน์แล้วในตอนนั้น  ซึ่งหากวิเคราะห์ ต่อไป แบบนี้ก็แสดงว่า คิดที่จะอยู่ยาวมากขึ้น

แต่เมื่อถึงจุดนั้นผมก็ไม่รู้ว่าการที่จะพยายามถนอมน้ำใจกัน จะลุกลามบานปลายกลายเป็นรอยร้าวมากขึ้นหรือไม่ ทั้งเรื่องกัญชา อะไรต่างๆ ถึงจุดนั้นสิ่งที่เคยตกลงกันเอาไว้ จะยังสมประโยชน์กันต่อไปหรือไม่ หรือสถานการณ์ในตอนนั้นแม้ว่าฝ่ายค้านจะลดน้อยลงไปแล้ว แต่กระแสตอบรับรัฐบาลจะลดลงไปด้วยหรือไม่ หากนโยบายที่คุยเอาไว้ มันยังไม่ได้ทำ  จะเหมือนกับเมื่อครั้งที่คุณทักษิณ มาเป็นนายกฯครั้งที่สอง แล้วมีเสียงล้นสภาฯ แต่สุดท้ายก็ต้องยุบสภาฯไป อยู่ได้ไม่ครบปี หรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ ต้องรอดูตอนนั้นอีกที

-โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าลึกๆแล้ว คุณทักษิณ กังวลเรื่องการรัฐประหารหรือไม่ แม้ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทย เองก็แนวโน้มค่อนข้างดี แต่ขณะเดียวกัน รมว.กลาโหม คนของพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขระเบียบกลาโหม ว่าด้วยการสกัดการรัฐประหาร

ผมมองว่า เขาเองไม่ได้มีท่าที หรือมีแรงกดดันเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ก็เป็นไปได้ ที่หลายคนซึ่งอยู่ในซีกฝั่งรัฐบาล ก็วิเคราะห์ว่าหากจะมีการออกมาทำการยึดอำนาจเหมือนเมื่อก่อน คือการรัฐประหารในปี 2549 ปี 2557 ยุคนี้คงไม่ง่ายแล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะทำให้ในส่วนนี้ จึงทำให้คุณทักษิณ กล้าทำอะไรหลายๆอย่าง แบบโอเวอร์ดีล ไปก็ได้

ผมคิดว่าเรื่องการยึดอำนาจ ก็อาจจะคิดได้ ในความเป็นจริงทางการเมือง มันเริ่มมีเชื้อบางอย่างที่เกิดขึ้น เป็นความเคลื่อนไหว จากฟากฝั่งประชาชน ที่ไม่พอใจกับการที่บางคนทำตัวเหมือนกับจะอยู่เหนือกฎหมาย ก็อาจจะจุดติด และลุกลามบานปลายไปในอนาคตก็ได้

ฉะนั้นการที่มีแนวคิดเสนอให้แก้ไขระเบียบกลาโหม เพื่อสกัดการรัฐประหารนั้นก็อาจจะเป็นสัญญาณวัดตัวหนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้ทำได้ ซึ่งเรื่องนี้หากย้อนกลับไปดูดีๆ ในอดีตที่ผ่านมา เรื่องการโยกย้ายนายทหาร กว่าจะมาเป็นระเบียบกลาโหม ผ่านยุคคุณทักษิณ มีข่าวมามากมายว่ามีความพยายามจากฝ่ายการเมือง ที่ยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหาร จนทำให้ฝั่งทหารอึดอัดตลอดมาว่า ไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง องค์กรของเขา

ดังนั้นการที่ฝ่ายการเมืองเสนอแก้ไขระเบียบกลาโหม ด้านหนึ่งอาจจะเป็นว่า เขาไม่รู้สึกว่า จะมีแรงกดดันอะไรที่ทำให้เขาวิตกกังวลจึงกล้าที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่าการที่เคลื่อนเรื่องนี้ออกไป ก็เป็นเหมือนตัวที่หยั่งสัญญาณว่าจะเกิดปฏิกิริยาใดบ้าง ถ้าไม่มีก็อาจจะเดินต่อ  แต่ถ้ามีปฏิกิริยา ก็อาจจะเกิดการต่อรองบางอย่าง แต่ถ้าให้สรุปรวมความ ผมมองว่าถ้ากล้าเสนอเรื่องนี้แล้ว ก็คงไม่มีอะไรต้องวิตกกังวลมากนัก 

-การเสียชีวิตของ บุ้ง ทะลุวัง  แกนนำม็อบราษฎร ระหว่างถูกคุมขัง ล่าสุดทำให้เกิดคำถามไปยังพรรคเพื่อไทย จนกลายเป็นแรงกดดัน จากที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงจะเสนอให้ปล่อยผู้ต้องหาในคดี ม.112  ขณะเดียวกัน ทางด้านพรรคก้าวไกลเอง ก็ออกมาขยับโดยจะเสนอให้นำคดี ม.112 ไปรวมกับการนิรโทษกรรม

ผมมองว่าเรื่องนี้คงมีเอฟเฟกซ์มาก หลายฝ่ายก็คงจะจับเรื่องนี้มาเป็นประเด็น เคลื่อนไหวกัน ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็อาจจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทวงถามพรรคเพื่อไทย ที่เคยสัญญาเอาไว้ และต้องยอมรับว่าอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนเหล่านี้ ก็จะออกมาบอกว่าคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะมีคนไม่ยอมรับ  ซึ่งผมมองว่าจะเป็นเชื้อ ปะทุตัวหนึ่ง ส่วนจะจุดติดหรือไม่ ในอนาคต ก็ยังไม่ทราบ

ซึ่งถ้าเราเป็นรัฐบาล และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องเตรียมรับมือ อย่างกรณีที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  ต้องสั่งตั้งกรรมการสอบสวนการเสียชีวิตของบุ้ง ทะลุวัง ว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะที่นายกฯเองก็ต้องแสดงปฏิกิริยา ต่อเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สื่อก็ต้องนำเสนอเรื่องนี้อยู่แล้ว

อย่างที่บอกเอาไว้ว่า เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศไป8-9เดือน มันเริ่มมีเชื้อต่างๆขึ้นมา แต่จะขยายไปถึงขั้นกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้