วาทกรรมทางการเมืองเดิมๆ ในยุค ระบอบทักษิณ คนเสื้อแดง ต่อสู้กับ อำมาตย์ กับ ขั้วอนุรักษ์นิยม หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กลับมา อีกครั้ง
หลัง พิชิต ชื่นบาน ทิ้งบอมบ์ ก่อนลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกฯ แฉวงจรอุบาทว์ อยู่เบื้องหลัง 40 สว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบจริยธรรม ตนเอง และหวังผลถึงเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี ของ เศรษฐา ทวีสิน
คำว่า “วงจรอุบาทว์” ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ในวันเดียวกับที่ พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ต่อต้านรัฐประหาร ในโอกาส 10 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยชี้ว่า เป็น อาชญากรรม และครั้งนี้ ต้องเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย และเร่งออกกฎหมาย สกัดการรัฐประหาร และไม่มีอายุความ ไม่มี การนิรโทษกรรม พร้อมจี้ ศาล เลิกประเพณี จะต้องไม่ยอมรับ คนยึดอำนาจ เป็น “รัฏฐาธิปัตย์”
ส่งผลให้ ขั้วอนุรักษ์นิยม ถูกจับตามองอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้ง ระหว่าง คีย์แมน ที่เคยทำ “ดีล” ตั้งรัฐบาล และ การกลับไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ปรากฏจากปัญหาภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ และกลุ่มทุน
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ย่อมหมายรวมถึง ทักษิณ ผู้มีบารมีของพรรค ย่อมไม่มั่นใจว่า ปฏิบัติการของ 40 สว. นี้ มีใครอยู่เบื้องหลังบ้าง
เพราะกระแสข่าวที่ออกมา ระบุว่า เป็น สว.ขั้วอนุรักษ์นิยม และสายทหาร ที่มีการเชื่อมโยง ถึง ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีอยู่
และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ เปลี่ยนนายกฯ งานนี้ พล.อ.ประวิตร โดนจับตาหนัก เพราะเคยพยายามสกัดกั้น เศรษฐา ไม่ให้เป็นนายกฯ มาแล้ว แต่ สว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ กลับโหวตให้ตามดีล
มาตอนนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นองคมนตรี อยู่ในสถานภาพ ที่ไม่อาจเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ตาม แต่ด้วยเพราะเคยเป็น คีย์แมนที่เกี่ยวข้องกับ “ดีล” จัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว และ การกลับมาของ ทักษิณ จึงทำให้ ยังคงถูกพาดพิง และจับตามอง บทบาท
ยิ่งกระแสข่าวที่ออกมา มี สว.บางคน ก็เป็นสาย พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ไม่ว่าจริงหรือไม่ หรือ ไม่ว่า จะทำเองส่วนตัว ที่ร่วมกับ 40 สว. เพื่อทิ้งทวน การเป็น สว. ก็ตาม แต่ก็สะเทือน พล.อ.ประยุทธ์
ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย และ เศรษฐา หวั่นไหว จึงทำให้ พิชิต ต้องลาออก ในที่สุด เพื่อตัดตอน ไม่ให้กระทบถึง เศรษฐา ท่ามกลางกระแสข่าว การต่อรอง ให้ยุติเรื่อง ที่ 40 สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่เวลานั้น กำลังจะชี้ว่า จะรับไว้พิจารณา หรือไม่ 23 พค.2567 และ จะต้องพิจารณา ด้วยว่า จะให้นายเศรษฐา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ในระหว่างรอการวินิจฉัย หรือไม่
สะท้อนว่า ทักษิณ ก็ไม่กล้าเสี่ยง ให้ ศาล รธน. วินิจฉัย เพราะมีโอกาส และช่องที่ เศรษฐา จะโดนเรื่องการตั้ง พิชิต เป็น รมต. และสะท้อนด้วยว่า ทักษิณ ก็ไม่มั่นใจ ใน องค์กรอิสระ
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ ทักษิณ รู้ตัวว่า ไม่ทำตาม “ดีล” บางอย่าง โดยเฉพาะ การยื้อเก้าอี้ รมว.กลาโหม เอาไว้ ทั้งๆที่ เคยมีข้อตกลงว่า เก้าอี้ รมว.กลาโหม จะเป็น โควตาของ ขั้วอนุรักษ์นิยม และต้องเป็นทหาร
แต่ 6-7 เดือนของรัฐบาล ขั้วอนุรักษ์นิยม ก็หยวนๆ ยอมให้ สุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม พลเรือน เพื่อสร้างภาพรัฐบาล พลเรือนไปก่อน
ก่อนที่จะมีการ ทวงดีล ในช่วงก่อนการปรับ ครม. ที่ผ่านมา แต่ สุทิน ก็ยังได้เป็น รมว.กลาโหม ต่อ แถม ทักษิณ ยังตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย มาเป็น รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และคุมกลาโหม อีกด้วย
แม้จะต่อรอง ผลักดันให้ ตั้ง “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯรมว.กลาโหม ให้เป็น รมช.กลาโหม ก่อนเท่านั้น ก็ยังไม่ได้
ประกอบกับการที่ สุทิน เองก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องมี รมช.กลาโหม จึงอาจทำให้ ขั้วอนุรักษ์นิยม ไม่พอใจ
สถานการณ์การเมือง เช่นนี้ ทำให้ฝ่ายทหาร ฝ่ายกองทัพ หนักใจไม่น้อย เพราะ ทำให้ ถูกจับตามอง และถูกจับจ้อง จนถึงขั้นจับผิด ท่ามกลาง การปลุกกระแสรัฐประหาร จากพวกขั้วอนุรักษ์นิยม ที่ไม่เอาระบอบทักษิณ และไม่เกี่ยวข้องกับ ดีล
ขณะที่ สุทิน ก็ยังเดินหน้า แก้ พรบ.กลาโหม เพื่อสกัดรัฐประหาร ต่อ แถมยังระบุว่า กองทัพ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ เพราะ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ขัดข้อง เพราะกองทัพ พร้อมปรับตัวตามสังคม แต่เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้การเมืองต้องกังวล
แต่ทว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว ผบ.เหล่าทัพ ยังติดใจในหลายประเด็น เพียงแต่ยังไม่มีการแสดงออก หรือ อาจรอให้การ ร่าง แก้ไข พรบ.กลาโหม ฉบับของกลาโหม เสร็จก่อน
แม้ว่า สุทิน ร่างฉบับของกลาโหม เพื่อมาเป็น ทางเลือก ที่ 3 ที่เบากว่า เนื้อหาของ ร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล และให้ ทหารร่างกันเอง ก็ตาม
ในเมื่อ รัฐบาลนี้ เกิดจาก ดีล และการเจรจาต่อรอง จาก คนที่เคยเป็นศัตรูกันมา รัฐประหาร กันมา ก็ย่อมเสี่ยง ต่อ รอยร้าว ที่อาจเกิดขึ้น ง่ายๆ จากการไม่ทำตาม ดีล
ปฏิบัติคราวนี้ จึงเป็นเสมือน การทวงดีล และ สั่งสอน ไปด้วยในตัว โดยมี เศรษฐา เป็น ตัวประกัน