สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

เราอาจรู้จักศิลปะขอมแบบบายนได้ จากอาการแสดงความรู้สึกที่เร้นลับและใบหน้าที่อมยิ้ม ซึ่งหมายถึง การใส่ความรู้สึกลงในประติมากรรม อันเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญของศิลปะแบบบายน                                                                                                          

บายน (Bayon) เป็นชื่อเรียกศิลปะของเขมรระยะสุดท้ายในยุค Angkorian Period  หรือยุคเขมรเมืองพระนคร ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (1724-1761) พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมัน กับพระนางชัยราชจฑามณี  ทรงนับได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยแม้ว่าจะทรงป้องกันและรบพุ่งกับชนชาติจาม ก็ยังสามารถสร้างปราสาทหิน และรังสรรค์รูปแบบเฉพาะของศิลปะต่างๆ ปรากฏไว้มากมาย ทั้งในกัมพูชา และดินแดนห่างไกล เช่น สยาม ลาว เวียดนาม เป็นต้น

พระพุทธรูปฯ สมัยลพบุรี

ศิลปะเฉพาะที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากศิลปะแบบบาปวนและศิลปะแบบนครวัด หรือที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีว่า "ศิลปะแบบบายน" นั้น พระองค์ทรงยึดเอาศูนย์กลางแห่งลักษณะเฉพาะดังกล่าวจากพุทธสถานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือ "ปราสาทบายน" มาเป็นชื่อเรียกรูปแบบศิลปะ อันนับเป็นการแสดงออกถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของพุทธศาสนาลัทธิมหายานจากบาปวน ในปี พ.ศ.1560-1630 และนครวัด ในปี พ.ศ.1650-1715 ฟิลิปป์ สแตร์น (Phillipe Starne) นักประวัติศาสตร์ศิลป์กล่าวไว้ว่า "เราอาจรู้จักศิลปะขอมแบบบายนได้ จากอาการแสดงความรู้สึกที่เร้นลับและใบหน้าที่อมยิ้ม" ซึ่งหมายถึง การใส่ความรู้สึกลงในประติมากรรม อันเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญของศิลปะแบบบายน

คำว่าบายน อาจเพี้ยนมาจากคำว่า "ไพชยนต์" อันเป็นมหาปราสาทขององค์อัมรินทร์ หรือพระอินทร์ สถิตสถานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่ง “ปราสาทบายน” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ กลับเป็นศูนย์กลางของศิลปะแบบบายน สร้างเป็นองค์ปราสาทจำหลักรูปพระโพธิสัตว์ทั้งสี่ทิศ แสดงให้เห็นความขรึมขลังและแย้มพระสรวลอย่างลึกลับที่เรียกว่า "ยิ้มแบบบายน" อยู่กลางเมืองนครธม (Angkor Tom) ที่แปลว่า "เมืองใหญ่" มีรูปอสูรและเทวะชักนาคอยู่หน้าประตูเมือง

พระนาคปรก สมัยลพบุรี

รูปแบบศิลปะแบบบายนได้เข้ามามีอิทธิพลในสยามประเทศตั้งแต่ครั้งก่อนกรุงสุโขทัย เนื่องจากการแผ่พระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเข้ามาทางแถบภาคอีสานโดยสร้าง "วิมายะปุระ" หรือ ปราสาทหินพิมาย ที่ โคราช (จ.นครราชสิมา) โดยสร้างอโรคยาศาลา หรือ สถานพยาบาลเล็กๆ เรียงรายจากนครธมจนถึงพิมาย นอกจากนี้ยังพบว่า พระปรางค์สามยอด ของละโว้ หรือลพบุรี ก็ถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน ไม่นับอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำแควน้อย อันปรากฏชัดที่ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี

“พระพุทธรูปศิลปะบายน” เป็นพระพุทธรูปในสมัยลพบุรี ที่มีอายุใกล้เคียงกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง แต่มีพุทธศิลปะที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ถือได้ว่าอยู่ในระยะความรุ่งเรืองสูงสุดของสมัยเมืองพระนคร มีอายุในราว พ.ศ.1780 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการปรากฏของ “อาณาจักรสุโขทัย” ในบริบททางประวัติศาสตร์ไม่นานนัก  และได้เข้าไปมีอิทธิพลต่องานประติมากรรมของพระพุทธรูปสมัยลพบุรีอย่างสูง มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 (พ.ศ.1600 ถึง พ.ศ.1700) พระพุทธรูปสมัยนี้ได้รับอิทธิพลทั้งฝ่ายลัทธิหินยานและลัทธิมหายาน ซึ่งพวกขอมนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะศิลปะแบบนครวัดและบายน มีการนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานและลัทธิมหายาน รวมทั้งศาสนาพราหมณ์ และที่เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่า “สมัยลพบุรี” นั้น ก็เพราะเมื่อพวกขอมเข้ามามีอำนาจในแหลมอินโดจีน และตั้งราชธานีอยู่ที่เขมร มีเมืองพระนครเป็นพระนครหลวง แล้วแผ่อำนาจเข้ามาถึงลุ่มเจ้าพระยา ตั้งเมืองของอุปราชแห่งหนึ่งอยู่ที่ “เมืองละโว้หรือลพบุรี” และตั้งเมืองหน้าด่านปกครองดินแดนแถบนอกอีกหลายเมือง ทางเหนือสุดมีเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย ทางใต้สุดมีเมืองเพชรบุรี ด้วยเหตุที่พบพระพุทธรูปฝีมือช่างขอมเป็นจำนวนมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นักโบราณคดีจึงกำหนดพระพุทธรูปสกุลช่างแบบนี้ว่า “สมัยลพบุรี” ตามนามเมืองอุปราชของขอม ซึ่งจะมีพุทธลักษณะเฉพาะเพื่อการพิจารณา ดังนี้

พระพิฆเนศ สมัยลพบุรี

พระเกตุมาลา มีหลายลักษณะ อาทิ เป็นต่อมแบบก้นหอย แบบฝาชีครอบ แบบมงกุฎเทวรูป หรือเป็นแบบดอกบัวแลเห็นกลีบรวมๆ เป็นต้น เครื่องสิราภรณ์ (เครื่องสวมพระเศียร) เป็นแบบกะบังหน้า มีไรพระศกเสมอและเป็นเส้นใหญ่กว่าสมัยศรีวิชัย และแบบทรงเทริด หรือเรียกเป็นสามัญว่าแบบขนนก เส้นพระศกมีลักษณะเหมือนเส้นผมมนุษย์ เรียกเป็นสามัญว่าแบบผมหวี หรือเป็นขมวดละเอียดบ้าง หยาบบ้าง พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน องค์พระที่ประทับยืน นุ่งห่มแบบห่มคลุม ส่วนองค์พระที่ประทับนั่ง จะนุ่งห่มแบบห่มคลุมและห่มดอง ชายสังฆาฏิยาวลงไปจรดพระนาภี ขอบอันตรวาสก (สบง) ข้างบนจะเผยอออกเป็นเส้น  ส่วนใหญ่พระกรรณจะยาวย้อยลงมาจนจรดพระอังสะ พระทรงเครื่องมีฉลองพระศก กำไลแขน และประคด บัวรองฐาน มีทั้งแบบบัวหงายบัวคว่ำ แบบบัวหงายอย่างเดียว และแบบบัวคว่ำอย่างเดียว

ในช่วงสมัยเมืองพระนคร “พระพุทธรูปปางนาคปรก” จะได้รับความนิยมอย่างสูง ตั้งแต่ช่วงศิลปะแบบคลัง แบบบาปวน แบบนครวัด มาจนถึงแบบบายน โดยเฉพาะในช่วงศิลปะแบบบาปวนและนครวัดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก ดังที่ปรากฏเป็นภาพสลักบนทับหลังปรางค์องค์กลางที่ปราสาทหินพิมาย และพระพุทธรูปนาคปรกสัมฤทธิ์ที่ขุดค้นพบในดินแดนแถบนี้จะเป็น “ศิลปะแบบนครวัด” ในขณะที่พระพุทธรูปนาคปรก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ได้รับอิทธิพลมาจาก “ศิลปะแบบบาปวน”

พระพุทธรูปศิลปะบายน สมัยลพบุรี

“พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะบายน” มีทั้งหล่อด้วยสัมฤทธิ์และทำจากหินทราย ค้นพบขนาดต่างๆ กันไป ในปี พ.ศ.2476 มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ในปราสาทหลังกลางที่ “ปราสาทบายน” นอกจากนี้ พุทธศิลปะองค์พระที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ก็มีขนาดต่างๆ กันตั้งแต่เล็กมากจนถึงขนาดใหญ่ แต่จะมีพุทธศิลปะแบบเดียวกันคือ พระเนตรใหญ่กลม ลืมพระเนตร ลำพระองค์เปลือยเปล่า มีลักษณะยิ้มบนพระพักตร์ อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะยุคนี้ และจัดเป็นประติมากรรมลอยตัวที่ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดต่อเนื่องจากยุคก่อน แต่ “ศิลปะแบบบายน” จะมีทั้งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องและไม่ทรงเครื่อง เครื่องสิราภรณ์ประกอบด้วยกะบังหน้า มงกุฎรูปกรวยสูงสวมอยู่เหนือพระเกศาถัก กรองพระศอมีอุบะเล็กๆ ประดับโดยรอบ บางองค์มีพาหุรัด ทองกร (กำไลข้อมือ) ทองพระบาท (กำไลเท้า) และกุณฑล (ตุ้มหู) ประดับอยู่ด้วยครับผม