ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
สังคมส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุดคือครอบครัว ว่าจะเปราะบางหรือแน่นหนาขนาดไหน?
สมัยก่อนครั้งที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ทุกปีในวันเด็กจะมีหนังสือมาแจก ซึ่งเป็นหนังสือที่มีสาระมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา หนังสือเล่มนี้จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ ขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มบาง ๆ มีประมาณ 100 กว่าหน้า ข้างในเป็นบทประพันธ์หลาย ๆ เรื่อง ทั้งที่เป็นข้อเขียนขึ้นใหม่ ๆ ที่เขียนโดยนักวิชาการและคนดัง ๆ ในสมัยนั้น กับที่รวบรวมวรรณกรรมเก่า ๆ มาให้เยาวชนได้อ่าน มีเรื่องหนึ่งที่อ่านแล้วจำเนื้อเรื่องได้ติดใจ ชื่อเรื่องว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” (ถ้าจำไม่ผิด ผู้เขียนน่าจะเป็น ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ นักวิชาการชื่อดังและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น)
เนื้อเรื่องโดยสรุปก็คือ การเลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อลูกเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ทำให้ลูกของเรานั้น “เสียผู้เสียคน” ซึ่งคนที่ทำผิดบาปเหล่านี้ให้แก่ลูกก็คือ “พ่อกับแม่” ที่พยายามจะให้ลูกรักและนับถือตัวเอง โดย “ถวาย” ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ลูกต้องการ เพียงแค่ลูกเอ่ยปากขอก็ขวนขวายไปหามาให้จนได้ (หรือบางทีก็อาจจะไม่ต้องการ เพราะลูกก็ยังไม่ได้เปิดปากร้องขออะไร เพียงแต่พ่อแม่คิดเดาไปเองว่าลูกชอบหรืออยากได้ ก็ไปหามาประเคนให้ก่อนแล้ว) ดังนั้น พ่อแม่คือคนที่ “รังแก” ลูก หรือทำลายลูก อย่างที่อาจจะใช้คำแรง ๆ ว่า “ฆ่าลูก” นั้นเลยก็ว่าได้
พอผมเติบโตมามีครอบครัว ก็นึกถึงข้อเขียนเรื่องนี้อยู่เสมอ เพื่อเตรียมรับปัญหาเมื่อจะต้องมีลูกและเลี้ยงลูก และก็โชคดีที่เลี้ยงลูกมาจนเติบโต แม้จะต้องรังแกลูกบ้าง คือตามใจลูกจนเกินพอดี แต่ก็โชคดีที่ลูกนั้นก็เอาตัวรอดไปได้ คือเรียนจบสูง ๆ อย่างที่ตั้งใจ ไม่เป็นคนเกกมะเหรกเกเร และสามารถหางานทำที่พอเลี้ยงตัวได้ดีตามสมควร กระนั้นคนที่เป็นพ่อกับแม่ก็ต้องทะเลาะกันเป็นอย่างมาก เพราะเผลอและแย่งกันรังแกลูกดังกล่าว ซึ่งก็น่าเห็นใจผู้คนที่เป็นพ่อและแม่ ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมรอบด้าน ทั้งเพื่อการเอาตัวรอดและให้มีหน้ามีตา (เรื่องมีหน้ามีตานี้ในสังคมไทยเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขั้นที่เอาชีวิตของลูกมาประกวดประชันกันนั้นด้วย) และเพื่อการประกันความมั่นคงในอนาคต ที่ไม่อยากให้ลูกนั้นไปแข่งขันตามลำพัง นั่นก็คือพ่อกับแม่ก็ร่วมแข่งขัน หรือช่วยเหลือลูกอย่างเต็มที่ในการแข่งขันนั้น ๆ ด้วย นั่นคือปัญหาของเด็กที่มีพ่อแม่ที่คอยดูแลลูกจนเกินพอดี แต่ในทางตรงกันข้าม สังคมของเราก็ยังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องมาคอยดูแล ซึ่งเด็กคนนั้นก็จะยิ่งแย่และสร้างปัญหาให้กับสังคมอย่างมากมาย อันเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญอยู่ในโลกที่มีปัญหาแบบนี้มาอย่างยาวนาน
เรื่องของ “เฌอปราง” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแนวชีวิตแบบ “พ่อแม่รังแกฉัน” เพียงแต่ว่าทุกข์หนักไม่ได้เกิดแก่เฌอปรางหรือคนที่เป็นลูกนั้นตามลำพัง แต่ยังส่งผลต่อคนรอบข้าง ตั้งแต่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไปถึงเพื่อน ครู และผู้ปกครองคนอื่น ๆ ในโรงเรียน ตลอดจนเพื่อนและผู้คนในที่ทำงาน ที่สุดเมื่อเฌอปรางมาเป็นนักการเมือง ผลร้ายก็ยังส่งผลถึงประชาชนคือคนไทยจำนวนมากนั้นด้วย
เฌอปรางเป็นลูกศิษย์ของผม เพื่อน ๆ ร่วมหลักสูตรเรียกชื่อเธอง่าย ๆ ว่า “เชอ” ในขณะที่ที่บ้านเรียกเธอว่า “ปิ๊ด” หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเพราะชื่อนี้ย่อมาจากชื่อเต็มของเธอ แต่เพื่อนที่สนิทกับเธอบอกว่า เป็นเพราะเธอสูงเพรียว ผิวขาว และมีผมเป็นลอนเล็ก ๆ ฟูเต็มศีรษะ เหมือนนักร้องฝรั่งในยุค 90 คนหนึ่งที่ชื่อ “เชอร์” รวมทั้งที่เธอเองก็ชอบที่จะแต่งตัวเปรี้ยว ๆ ในสไตล์ของนักร้องคนนี้ เพียงแต่ว่าเธอไม่ค่อยชอบร้องเพลง แม้จะเป็น “ขาแด๊นซ์” ที่ชอบออกลวดลายอยู่เสมอ ๆ ในทุก ๆ งานปาร์ตี้ ทว่าที่ทำให้เธอโดดเด่นที่สุดก็คือความเป็นนักการเมือง เพราะเธอได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. ที่เธอเองก็พยายามที่จะแสดงบทบาทต่าง ๆ ในทางการเมืองอย่าง “เต็มที่” เพียงแต่ว่าเป็นความเต็มที่ในแนวที่เธอถูกอบรมเลี้ยงดูมา ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเธอนั้นไม่รู้ตัวและคงไม่ได้จะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง เพราะทุกอย่างเธอทำตาม “ความพอใจ” เท่านั้น
ผมไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับตัวของเธอ และก็ไม่ใช่นิสัยของผมที่จะไปซักถามเอาข้อมูลส่วนตัวอะไรต่าง ๆ จากเจ้าตัว เพียงแต่ตัวเธอเองนั้นก็ชอบที่จะคุยโม้โอ้อวดในบางเวลา รวมถึงที่เพื่อน ๆ ของเธอได้ไปรู้ไปทราบอะไร ๆ มาก็เอามาเล่าสู่กันฟัง (แบบไทย ๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่า “นินทา” นั่นเอง) รวมที่ผมใส่จินตนาการจากความรู้และประสบการณ์ของผมเอง ที่ได้รู้จักผู้คนอย่างหลากหลาย และสนใจว่าผู้คนเหล่านี้ทำไมจึงมีลักษณะที่เหมือนหรือแตกต่างกัน จนถึงขั้นได้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยามาหาคำตอบเอาเองอยู่เป็นประจำ (ดังนั้นถ้าจะตีความหรือวิเคราะห์ผิดก็ต้องขออภัย แต่เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งสิ้น และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้องวิเคราะห์นี้ได้เช่นกัน) จึงอยากจะนำเสนอข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับชีวิตของเฌอปรางนี้มาเป็น “วิทยาทาน” อีกชีวิตหนึ่ง
เฌอปรางเกิดในครอบครัวที่นักวิชาการแนวซ้าย ๆ เรียกว่า “พวกกระฎุมพี” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Bourgeoisie หมายถึงพวกคนมั่งมีและใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย โดยที่คนรวยพวกนี้ไม่ค่อยสนใจชีวิตของคนที่ต่ำกว่า ทั้งยังดูหมิ่นดูแคลนและแสดงความรังเกียจพวกคนที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะคนยากจน คนพิการ และคนที่ไร้การศึกษา (คนพวกนี้นี่เองที่ในประวัติศาสตร์ประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นกลุ่มคนที่สร้างความแตกแยกในสังคม ทำให้เกิดการเดินขบวนต่อต้านจากคนยากจนให้ทำลายล้างคนกลุ่มนี้ ที่รวมหมายถึงพวกพระและกษัตริย์ ที่สุดก็เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ ส่วนในตำราของพวกคอมมิวนิสต์ก็จะบอกว่าพวกกระฎุมพีเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สังคมเสื่อมทราม หากคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะแล้ว คนกลุ่มนี้จะต้องถูกทำลายให้หมดสิ้นไปจากสังคม)
เฌอปรางเข้าเรียนอนุบาลจนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนของโบสถ์คริสต์ชื่อดัง ที่ว่ากันว่าจะต้องมีการประมูลจ่ายค่าบำรุงการศึกษา(ที่เรียกกันอีกชื่อว่า “แป๊ะเจี๊ยะ”)กันคนละเป็นแสน ๆ จึงจะมีที่นั่งเรียน นอกเหนือจากที่จะต้องใช้เส้นสายฝากฝังเข้ามาอย่างดุเดือด แต่โรงเรียนก็มีข้อตกลงเป็นสัญญาผูกมัดเด็กนักเรียนและผู้ปกครองทุกคนว่า จะต้องยอมรับกฎกติกต่าง ๆ ของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษากิริยามารยาท การตรงต่อเวลา การแต่งกาย การตั้งใจเรียน และการร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่จะบิดพลิ้วหรือต่อรองอะไรไม่ได้ มิฉะนั้นก็ต้องเอาลูกออกไปจากโรงเรียน บางคนคิดว่าโรงเรียนคงไม่กล้าทำตามข้อตกลงเหล่านั้นจริง ๆ พอฝ่าฝืนและถูกเชิญออก ก็ต้องกลับมาง้อขอกลับมาเรียน ซึ่งก็ต้องทำทัณฑ์บนทั้งนักเรียนกับผู้ปกครองว่าจะไม่ฝ่าฝืนอีก จึงทำให้โรงเรียนแห่งนี้ยังคงรักษามาตรฐานในการ “เข้ายาก” และ “อยู่ยาก” มาโดยตลอด แต่นั่นก็คือสิ่งที่เป็น “ชื่อเสียง” ของโรงเรียน นอกเหนือจากคุณภาพของครูและนักเรียน ที่รักษาชื่อเสียงนั้นมาได้ด้วยดีก็ด้วยกฎและระเบียบที่น่ายำเกรงนี่เอง
สังคมนั้นมีวิธีแก้ไขและล้อมคอกคนที่มีปัญหานั้นอยู่แล้ว กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่เพราะปัญหานั้นมันถูกสร้างมาจากสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวนั่นเอง