สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

นับเป็นอีกหนึ่งบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังครมเศรษฐา 1/1 เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯไม่ถึงเดือน กลับมีรัฐมนตรีลาออกแล้วถึง 3 คน ประกอบด้วยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.ต่างประเทศ และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก …*…

 นายปานปรีย์เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการลาออกไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อตนทำงานในตำแหน่งหนึ่งด้วยความเรียบร้อย ซื่อสัตย์ สุจริตและมีผลงานประจักษ์ชัดเจน แต่วันดีคืนดีกลับถูกโยกย้ายไปในตำแหน่งที่น้อยกว่าเดิม เสมือนว่าทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป …*…  

ด้านสาเหตุการไขก๊อกของนายกฤษฎานั้น สื่อทุกแขนงพร้อมใจโฟกัสไปที่ย่อหน้าหนึ่งในหนังสือลาออกของนายกฤษฎาที่มีความว่า“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีแนวคิดในการทำงานที่แตกต่างกัน รวมทั้งการไม่ให้เกียรติต่อกันในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม กระผมจึงเห็นว่าคงไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” …*…

ส่วนนายพิชิตแจ้งเหตุผลไว้ในหนังสือลาออกว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่าข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติด กับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม …*…

 จาก 3 อดีตรัฐมนตรีดังกล่าว ผู้ได้รับความสนใจมากที่สุดย่อมไม่พ้นนายพิชิต เนื่องจากมีเรื่องราวคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และพันไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพราะถูก 40 สว.เข้าชื่อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายเศรษฐาและนายพิชิต โดยอ้างว่าทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ด้วยกรณีของนายพิชิต มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นว่า มีการละเมิดอำนาจศาล และมีคำสั่งศาลสั่งให้จำคุก มีคำบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงของศาลที่ชัดเจนว่า มีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ส่วนกรณีของนายเศรษฐานั้น สว.มองว่าเป็นกรณีสืบเนื่องกัน เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนายเศรษฐายังคงเสนอชื่อนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งที่มีประเด็นที่ทักทวงต่อการตั้งนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว …*…

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมพิจารณาคำร้องดังกล่าวในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของนายเศรษฐาและนายพิชิต หรือไม่ หากรับคำร้องจะต้องพิจารณาว่าทั้ง 2 คนต้องพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ …*…

จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าการลาออกของนายพิชิตจะช่วยให้นายเศรษฐารอดพ้นจากบ่วงการเมืองนี้หรือไม่ …*…

“เรื่องนี้ต้องรอคำตอบจากกระบวนการยุติธรรม เพราะคำร้องของ สว. ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะจำหน่ายคดีหรือไม่ แต่กรณีของนายเศรษฐาก็จะยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อ จากการเสนอตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการกระทำที่สำเร็จแล้ว ก็ต้องย้อนกลับมาดูต้นเหตุว่านายพิชิตขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 หรือไม่ที่เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ สุจริตและเรื่องจริยธรรม โดยส่วนตัวเชื่อว่าการลาออกของนายพิชิตจะยังไม่จบ เพราะตัวนายกฯยังคงต้องรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญอยู่ ถ้าจะให้จบเรื่องนี้นายกฯก็ต้องลาออก  สุดท้ายก็ต้องรอดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะรับคำร้องไว้หรือไม่ และจะจำหน่ายคดีกรณีนายพิชิตรายเดียวหรือไม่ ทั้งหมดเป็นดุลพินิจไม่สามารถก้าวล่วงได้” ความเห็นจากนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ …*…

เชื่อกันว่าหากนายเศรษฐามีอันต้องถูกสั่งพักการปฏิบัติงาน หรือต้องพ้นจากตำแหน่ง แม้พรรคเพื่อไทยจะยังคงกุมอำนาจบริหารต่อ ทว่า จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการเมืองไทย ที่อาจก่อให้เกิดการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลอีกรอบ เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพา สว. ในการโหวตเลือกนายกฯแล้ว นั่นหมายถึงมีโอกาสสูงยิ่งที่ประเทศชาติจะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงกับความโกลาหลครั้งใหญ่ …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (23/5/67)