ศาล รธน. มีมติรับคำร้อง 40 สว. ร้อง นายกฯ แต่งตั้ง พิชิต นั่งรมต. แต่มีมติ 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐา ทำหน้าที่ต่อได้ ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ด้าน วราวุธ มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลัง 40 สว. ร้องศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี เศรษฐา ส่วนทนายความร้องกองปราบตรวจสอบปม40รายชื่อสว.ลงชื่อยื่นถอดถอนนายกฯ มีการปลอมแปลงเอกสารหรือไม่ เผยอาจมีสว.อีก 4-5 คนอ้างถูกปลอมลายมือชื่อเรืองไกรส่งหลักฐานเพิ่ม จี้กกต.เร่งสรุป ปม"สุทิน" ถือหุ้น ให้ศาล รธน.วินิจฉัย ความเป็นรมต.สิ้นสุดเฉพาะตัวหรือไม่ 
 

 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เรื่องประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ) จากกรณีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

     ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 54 สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย
 

   ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์) ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจ้งให้คู่กรณีทราบ
   

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับเวลา 12.30 น. ที่ประเทศไทย ที่ โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับโทรศัพท์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 40 คนที่ร่วมลงชื่อถอดถอนนายกฯ จากกรณีที่แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
 

   ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการปฎิบัติภารกิจที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. ในการเข้าร่วมประชุมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ว่า นายเศรษฐา ยังคงมีท่าทีปกติ และยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ตาม กำหนดการปกติที่วางแผนไว้ โดยเวลา 13.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง นายกฯ เข้าร่วมการประชุม One-on-one ที่โรงแรม Peninsula Tokyo
 

   จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น.นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารบริษัท Mipsui&Co.,Ltd. ณ โรงแรมที่พัก เวลา 14.25 น พบผู้บริหาร Ajinomopo Co.,Inc. ก่อนจะพบและหารือกับ ผู้บริหารบริษัท Sony Grpup Crporation ในเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อนพบหารือกับผู้บริหารบริษัท MUFGZ&Softbank (สถาบันการเงิน) และ พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Nidec Corporation และเวลา 18.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น นายกฯ พบและหารือกับดาโต๊ะ เซอร์ อันวาร์ อิบบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่โรงแรม The Imperial Tokyo
 

   ต่อมาเวลา 19.00 น. นายกฯ ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ กับผู้เข้าร่วมการประชุมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น,ซึ่งภายในงานนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นร่วมงานพร้อมกล่าวสุนทรพจน์
 

   ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวยืนยันถึงเสถียรภาพรัฐบาล หลัง 40 สว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา และ นายพิชิต ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นส่วนของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อนายพิชิตยื่นจดหมายลาออกแล้วก็เชื่อว่าน่าจะจบกันไป 
 

   เมื่อถามว่า ในฐานะพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มองว่าเสถียรภาพของรัฐบาลนี้ ยังมั่นคงเพียงใด นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกนโยบายยังเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ในกระทรวงที่แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลดูแล และการทำงานของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังยังเดินหน้าต่อกันอย่างหนักแน่น
   

 ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (กองปราบ) นาย ธเนศ ณัฏฐ์ สุคนธพันธ์ หัวหน้าสำนักงานกฎหมายธเนศ ณัฏฐ์ สุคนธพันธ์ เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเอกสารหลักฐานภาพข่าวต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เพื่อขอให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ข่วยทำการตรวจสอบกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ร่วมกันลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถอดถอนนาย เศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็น สว.4 คนที่มีการอ้างถึงว่าลงชื่อด้วย แต่ปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนว่าไม่ได้ลงชื่อ เนื่องจากมองว่าหากกระบวนการต้นทางไม่ถูกต้องกระบวนการทั้งหมดก็จะไม่ถูกต้องด้วย ในนั้นคือพลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส และยังมีข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ยังมี สว.อีก 4-5 คนที่อาจถูกปลอมแปลงเอกสารหลักฐาน เช่น ลายมือชื่อ ด้วยเช่นกัน โดยต้องการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทั้งหมด 40 รายชื่อว่าเป็นรายชื่อที่ได้มาโดยดำเนินการตามกฎหมายถูกต้องหรือไม่ หากกระบวนการไม่ถูกต้องผลลัพธ์ก็จะผิดทั้งหมด  โดยหลังจากนี้คาดว่า เจ้าหน้าที่จะรับไปดำเนินการตรวจสอบทันทีเนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ยังไม่ทราบกรอบระยะเวลา ยืนยันว่า การที่ตนเองออกมาร้องเรียนในวันนี้ มาในฐานะประชาชนคนไทยและเป็นนักกฎหมายที่มองว่ากระบวนการดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง แต่มองว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายใน กลุ่มส.ว.กันเอง  ส่วนหากภายหลังกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของ 40 สว.นั้น ก็จะปรึกษากับทีมงานว่าจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น ป.ป.ช.  ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปส่วนกรณีที่เพิ่งออกมาร้องเรียนในวันนี้ทั้งที่เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้องแล้วนั้น เนื่องจากเพิ่งทราบ และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ก็เพิ่งออกมาเปิดเผยข้อมูล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของส.ว. ทั้ง 40 คนให้รับทราบ
 

   ขณะเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้พบข่าวเกี่ยวกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สำนักข่าวอิศราลงไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวอิศรานำมาลงไว้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายสุทิน คลังแสง ซึ่งพยานหลักฐานตามข่าวควรส่งให้ กกต. นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. ให้ตรวจสอบ 1. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 สำนักข่าวอิศรา หัวข้อ เมีย สุทิน รมว.กลาโหม จดเลิกห้างฯคลังแสงอีสานแล้ว หลังถือหุ้น 1 ล้าน ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่ง ดังนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 หจก.คลังแสงอีสาน โดยนางฉวีวรรณ คลังแสง หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ชำระบัญชี ได้ยื่นจดทะเบียนเลิกกิจการและชำระบัญชี ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดขอนแก่น อ้างมติที่ประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566  ให้เลิกห้างฯ ซึ่งการยื่นจดทะเบียนเลิกกิจการขณะนี้นายทะเบียนฯยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด  (ดูเอกสาร)
 

   นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า 2. จากสำเนาเอกสารที่สำนักข่าวอิศรานำมาลงไว้จะพบว่าเป็นคำขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดคลังแสงอีสาน ลงวันที่ 20 พ.ย. 2566 โดยมีนางฉวีวรรณ คลังแสง ลงนามเป็นผู้ชำระบัญชี  3. กรณีที่สำนักข่าวอิศรา ลงข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ที่ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า ขณะนี้นายทะเบียนฯยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด นั้น กรณีจึงมีเหตุที่ควรขอให้ กกต. รีบตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจต่อไป เพราะกรณีนี้ ได้ยื่นคำร้องไว้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2566 รายละเอียดควรทราบแล้วนั้น
 

   นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า 4. เนื่องจากคำร้องดังกล่าว เป็นการร้องว่ารัฐมนตรีมีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงของสำนักข่าวอิศรา ดังนั้น กกต. ควรมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ เพราะกรณีนี้ได้ร้องต่อ กกต. มาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ดังนั้น จึงขอให้ กกต. รีบดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจด้วยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 นั้น จะมีผลในเรื่องคุณสมบัติห้ามเป็นรัฐมนตรีภายในสองปีหลังจากพ้นจากตำแหน่งตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (8) ด้วย
     

 "จึงส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้ กกต. ตรวจสอบนายสุทิน ว่ายังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นจำกัด คลังแสงอีสาน ในนามคู่สมรส หรือไม่ หากยังคงไว้ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่"นายเรืองไกร กล่าว